กรมคุ้มครองสิทธิฯ 17 พ.ย.- กรมคุ้มครองสิทธิฯ เตรียมแก้กฎหมายคุ้มครองพยาน เริ่มตั้งแต่ในชั้นศาลจนหลังจบคดี
น.ส.ปิติกาญจน์ สิทธิเดช อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เปิดเผยความคืบหน้าการแก้ไขเพิ่มเติมร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและบังคับบุคคลให้สูญหายพ.ศ…ว่า ขณะนี้ มี 5 ประเด็นสำคัญที่ต้องแก้ไข อาทิ การผลักดันส่งกลับคนต่างด้าวซึ่งที่ผ่านมาไทยยังไม่เคยดำเนินการ การเตรียมพร้อมตอบสนองต่อภาวะฉุกเฉินที่เกี่ยวข้องกับการกระทำทรมานและบังคับให้สูญหายเพราะถือเป็นอาชญากรรมที่ไม่สามารถทำได้
โดยการแก้ไขจะต้องดูความเหมาะสม การใช้อำนาจศาลในการพิจารณาคดีการถูกอุ้มหาย โดยมีความเห็นว่าควรจะเป็นอำนาจศาลคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง เนื่องจากที่ผ่านมาคดีการอุ้มหายส่วนใหญ่เกิดจากกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ ล่าสุดร่างกฎหมายอยู่ในขั้นตอนเตรียมทำประชาพิจารณ์ ตามมาตรา 77ก่อนจะเร่งเสนอ ครม.เพื่อนำเข้าให้ สนช.พิจารณาต่อไป
สำหรับข้อมูลของสหประชาชาติ ระบุว่าปัจจุบันไทยมีผู้ถูกบังคับให้สูญหาย จำนวน 80 ราย แต่จากการตรวจสอบเบื้องต้นของกรมคุ้มครองสิทธฯพบว่ามี 6 รายที่สามารถยืนยันตัวบุคคลได้ โดยมีทั้งที่ยังมีชีวิต และเสียชีวิตไปแล้ว โดยกรมฯจะต้องตรวจสอบอย่างละเอียดอีกครั้ง เพื่อแจ้งให้ยูเอ็นปรับแก้ไขข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน
ที่ผ่านมาไทยได้แต่งตั้งคณะกรรมการจัดการเรื่องราวร้องทุกข์กรณีถูกกระทำทรมานและถูกบังคับให้สูญหาย หลังจากไทยเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้หายสาบสูญ และภาคีอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน และการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเป็นประธานนอกจากนี้ยังมีการตั้งคณะอนุกรรมการอีก3 คณะคือ คณะอนุกรรมการติดตามและตรวจสอบกรณีถูกกระทำทรมานและถูกบังคับให้หายสาบสูญคณะอนุการเยียวยาฯ และคณะอนุกรรมการป้องกันการกระทำทรมานฯซึ่งคณะอนุกรรมการฯทั้งหมดจะทำหน้าที่ในการดูแลเยียวยาผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิฯต่อไป
นอกจากนี้ น.ส.ปิติกาญจน์ กล่าวว่า กฎหมายฉบับนี้ยังมีการแก้ไขเพิ่มเติมในส่วนของการคุ้มครองพยาน เพราะไทยมีปัญหาเรื่องนักสิทธิมนุษยชน และพยาน ในคดีสำคัญถูกคุกคามทั้งกรณี นายสมชาย นีละไพจิตร นายพอลละจี รักษ์จงเจริญ หรือนายบิลลี่แกนนำชาวบ้านกะเหรี่ยงบ้านบางกรอย จ.เพชรบุรีที่ถูกอุ้มหาย หรือคดีสำคัญ เช่น ค้ามนุษย์และคดีความมั่นคงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเดิมกฎหมายให้การคุ้มครองพยานเฉพาะในช่วงที่ต้องขึ้นศาลเท่านั้น และหลังจากนี้กฎหมายจะให้การดูแลตั้งแต่เริ่มต้นกระบวนการในชั้นศาล รวมไปถึงการใช้ชีวิตหลังจบคดีความเพื่อให้พยานมีความมั่นในด้านความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ล่าสุดหลังมีการปรับรูปแบบ ทำให้คดีความมั่นคงในพื้นที่ภาคใต้มีประจักษ์พยานกล้าเข้าให้ปากคำกับพนักงานสอบสวนทำให้ศาลอนุมัติหมายจับแล้วถึง 80 หมาย.-สำนักข่าวไทย