กรมคุ้มครองสิทธิฯ 4 ม.ค. – กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ แจง “ทนายพัช” เป็นทนายความส่วนตัวของ “แอม ไซยาไนต์” ไม่ใช่ทนายความที่รัฐจัดหาให้ หลังมีภาพสวมเสื้อกั๊กปักเครื่องหมายของกรมฯ และเครื่องหมายศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน ซึ่งอาจทำให้ประชาชนเข้าใจผิด
นายธีรยุทธ แก้วสิงห์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านพิทักษ์สิทธิและเสรีภาพ โฆษกกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เปิดเผยถึงกรณีที่ปรากฏภาพทนายความของนางสาวสรารัตน์ รังสิวุฒาภรณ์ หรือ แอม ที่แต่งกายสวมเสื้อกั๊ก ปักเครื่องหมายของกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ และเครื่องหมายศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน อาจทำให้ประชาชนเข้าใจผิดว่า เป็นทนายความที่รัฐจัดหาให้ เพื่อต่อสู้คดีตามสิทธิของผู้ต้องหานั้น นางสาวธันย์นิชา เอกสุวรรณวัฒน์ หรือทนายพัช เป็นทนายความส่วนตัวของนางสาวสรารัตน์ หรือแอม ซึ่งให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับแนวทางการต่อสู้คดีของลูกความ ตามสิทธิและเสรีภาพโดยชอบ ที่ทนายความสามารถแสดงความคิดเห็นต่าง ๆ ในการต่อสู้คดีได้ ส่วนที่มีหลายคนสงสัยว่า ทนายพัช เป็นทนายความที่รัฐจัดหาให้ในการต่อสู้คดีหรือไม่ เนื่องจากการแต่งกายของทนายพัช สวมเสื้อกั๊กปัก โลโก้กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพและศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชนนั้น มาจากกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เปิดหลักสูตรการพัฒนาและฝึกอบรมเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นผู้ไกล่เกลี่ย ตามพระราชบัญญัติการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ.2562 ซึ่งเมื่อผ่านการฝึกอบรมแล้ว ได้ขออนุญาตจัดทำเสื้อกั๊กยูนิฟอร์มและมอบให้ผู้ไกล่เกลี่ยที่ขึ้นทะเบียนใส่ปฏิบัติงาน โดยทนายพัช ได้ผ่านการอบรมและขึ้นทะเบียนเป็นผู้ไกล่เกลี่ยตามกฎหมาย ซึ่งทนายพัช มีสิทธิในการสวมใส่เสื้อกั๊กยูนิฟอร์มดังกล่าว แต่ไม่ได้เป็นทนายความที่รัฐจัดหาให้กับแอม
นายธีรยุทธ กล่าวอีกว่า การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมทางอาญา รัฐธรรมนูญกำหนดให้รัฐจัดหาทนายความให้แก่ผู้ต้องหาในคดีอาญา ซึ่งอาจมีหลายรูปแบบ เช่น “ทนายอาสา” เป็นทนายความที่เป็นอาสาสมัคร ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาทางกฎหมายกับประชาชนโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย จะขึ้นทะเบียนกับหน่วยงานต้นสังกัด เช่น สภาทนายความ ศาล หรือสำนักงานอัยการ ส่วน “ทนายขอแรง” เป็นทนายความที่ศาลตั้งให้กับจำเลยในคดีอาญา หากจำเลยนั้นไม่มีทนายความและต้องการทนายความช่วยแก้ต่างในทางคดี โดยจำเลยไม่ต้องเสียค่าจ้างทนายความ
นอกจากนี้ กระทรวงยุติธรรม โดย กองทุนยุติธรรม ได้จัดบริการให้ประชาชนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้อย่างเท่าเทียมกัน โดยจัดหาทนายความฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย ให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน กรณีไม่มีเงินจ้างทนาย ไม่มีเงินขึ้นศาล ซึ่งสามารถติดต่อขอรับบริการได้ที่กระทรวงยุติธรรม หรือสำนักงานยุติธรรมจังหวัดทุกแห่ง ทั่วประเทศ .-119-สำนักข่าวไทย