สปส.18 ต.ค.-เลขาฯ สปส.ยืนยันการจ่ายประโยชน์ทดแทนชราภาพ สอดคล้องกับรายได้และค่าครองชีพในปัจจุบันตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.ประกันสังคม และอยู่บนพื้นฐานยึดประโยชน์สูงสุดของผู้ประกันตน
นายสุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กระทรวงแรงงาน กล่าวถึงข่าวที่ปรากฏทางสื่อมวลชน กรณีกลุ่มแรงงานเตรียมฟ้องศาลปกครอง เรื่องการให้ความคุ้มครองประกันสังคมกรณีชราภาพ ไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมาย เนื่องจากกฎกระทรวงและระเบียบที่เกี่ยวข้องไม่สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจและสังคม โดยรัฐบาลไม่ได้จ่ายเงินสมทบในส่วนนี้ ตลอดจนไม่ได้พิจารณาดัชนีค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้นตลอดเวลาในการคำนวณการจ่ายบำนาญชราภาพนั้น ว่า พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 กำหนดให้รัฐบาลจ่ายเงินสมทบแน่นอน ซึ่งรัฐบาลปัจจุบันได้จ่ายเงินสมทบกองทุนประกันสังคมมากกว่าทุกชุดที่ผ่านมาและกำหนดให้นายจ้าง ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ร่วมออกเงินสมทบเข้ากองทุนเพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตร และกรณีชราภาพ ตามอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง ซึ่งได้กำหนดให้รัฐบาลออกเงินสมทบเพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีสงเคราะห์บุตร และกรณีชราภาพ ในอัตราร้อยละ 1 นายจ้างและผู้ประกันตนออกเงินสมทบในอัตราร้อยละ 3 ของค่าจ้างของผู้ประกันตน ขณะนี้ยังไม่มีข้อกำหนดในการ ปรับฐานเงินสมทบตามสภาวะเศรษฐกิจและค่าครองชีพ
นายสุรเดช กล่าวต่อไปว่า ตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.ประกันสังคมฯ มีวัตถุประสงค์ 2 ประการ ประการแรกเพื่อให้ผู้รับบำนาญไม่ตกอยู่ในภาวะยากลำบากในการครองชีพหรือต่ำกว่าระดับความยากจนและประการที่ 2 เพื่อให้ผู้รับบำนาญมีการทดแทนรายได้ประจำต่อเนื่อง ในอัตราที่สอด คล้องกับรายได้ก่อนเกษียณ โดยสนธิสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศกำหนดให้ผู้ทำงาน 30 ปี ควรได้รับบำนาญไม่ต่ำกว่าร้อยละ 40 ของค่าจ้างก่อนเกษียณ ขณะที่สำนักงานประกันสังคมให้สูงกว่ามาตรฐานดังกล่าว โดยผู้ที่ทำงานส่งเงินสมทบ 30 ปี จะได้รับบำนาญร้อยละ 41.5 ของค่าจ้างก่อนเกษียณ
อย่างไรก็ตามสำนักงานประกันสังคมได้ศึกษาแนวทางการปฏิรูปบำนาญชราภาพ โดยนำเสนอคณะกรรมการ ประกันสังคมเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2560 มีมติเห็นชอบแนวทางการปฏิรูปบำนาญชราภาพเพื่อประโยชน์ของผู้ประกันตนที่จะเป็นผู้รับบำนาญในอนาคตรวมทั้งมีการพิจารณาเรื่องสูตรบำนาญชราภาพให้สอดคล้องกับระยะเวลาการทำงานและค่าจ้างในการคำนวณเงินสมทบ ซึ่งปัจจุบันระบบบำนาญชราภาพของประกันสังคมมีอายุเพียง 18 ปีทำให้ผู้รับบำนาญรุ่นปัจจุบันได้รับบำนาญเพียง ร้อยละ 24.5 ของค่าจ้างก่อนเกษียณ ประกอบกับเพดานค่าจ้าง สำหรับการจัดเก็บเงินสมทบถูกรักษาไว้ที่ 15,000 บาทมาตลอด ทำให้ผู้รับบำนาญได้รับบำนาญไม่เกิน 3,675 บาทเท่านั้น ซึ่งไม่เพียงพอ นอกจากนี้บำนาญขั้นต่ำ ของสำนักงานประกันสังคมยังถูกผูกกับฐานค่าจ้างขั้นต่ำของการส่งเงินสมทบซึ่งไม่เคยมีการปรับเพิ่มเช่นเดียวกันทำให้ไม่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน
ทั้งนี้ เบื้องต้นได้ดำเนินการแก้ไขเรื่องฐานและเพดานค่าจ้างแล้ว ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากผู้ประกันตนและนายจ้างผ่านการประชาพิจารณ์ให้ขยายฐานค่าจ้างจาก 1,650 บาทเป็น 3,600 บาท และเพดานค่าจ้างจาก 15,000 บาท เป็น 20,000 บาท ซึ่งจะช่วยให้บำนาญขั้นต่ำและบำนาญขั้นสูงเพิ่มขึ้นตามเจตนารมณ์ทั้ง 2 ประการ
ขณะเดียวกันเพื่อให้สอดคล้องกับมติคณะกรรมการประกัน สังคมกับแนวทางการปฏิรูปบำนาญชราภาพ ขณะนี้อยู่ระหว่างการประชาพิจารณ์การปฏิรูประบบบำนาญชราภาพ รวมถึงเรื่องการปรับสูตรคำนวณค่าจ้างเฉลี่ยจาก 60เดือนสุดท้ายเป็นตลอดอายุการทำงาน โดยปรับเป็นมูลค่า ณ วันที่ขอรับบำนาญ จะช่วยให้ผู้ประกันตนทุกคน รวมถึงมาตรา 39 ได้รับบำนาญที่เป็นธรรมสอดคล้องกับค่าจ้างที่ส่งเงินสมทบและสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ ณ เวลาที่ขอรับบำนาญ ผลการประมาณการชี้ว่าผู้ประกันตนที่ส่งเงินมาตรา 33 ฐาน 15,000 บาท มาตลอดมากกว่า 10 ปี ก่อนเปลี่ยนมาส่งมาตรา 39 ฐาน 4,800 บาท เพียง 5 ปี จะได้รับบำนาญเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว
ทั้งนี้ สำนักงานประกันสังคมอยู่ระหว่างการศึกษาด้านอื่นๆ เช่น 1)การปรับเพิ่มบำนาญตามค่าครองชีพให้แก่ผู้รับบำนาญไปแล้ว เพื่อรักษามาตรฐานการใช้จ่ายของผู้รับบำนาญเมื่ออายุมากขึ้น และค่าเงินเปลี่ยนไป 2) การปรับเพิ่มบำนาญให้กับผู้รับบำนาญรุ่นแรกซึ่งมีระยะเวลาการส่งเงินสมทบน้อยเพราะขาดโอกาส 3)การบูรณาการกับกองทุนบำนาญอื่นๆ ของประเทศเพื่อกำหนดระดับของบำนาญและแผนการจัดเก็บเงินสมทบที่สอดคล้องและเหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจของประเทศ เป็นต้น ซึ่งหลังได้ผลการศึกษาและแนวทางที่คาดว่าจะช่วยแก้ไขปัญหาตามข้อเรียกร้อง และจะมีการทำประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นอีกครั้ง .-สำนักข่าวไทย