นครสวรรค์ 3 ต.ค. – กรมชลประทานคาดการณ์ว่าสัปดาห์แรกของเดือนตุลาคม ปริมาณน้ำเหนือระลอกที่มากที่สุดของปีจะมาถึง จ.นครสวรรค์ ขณะนี้ได้เริ่มผันน้ำลงทุ่งที่ชุมชนพร้อมรับไปบ้างแล้ว มั่นใจว่าจะช่วยลดปริมาณการระบายท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ทำให้ภาวะน้ำล้นตลิ่งลุ่มเจ้าพระยาตอนล่างไม่รุนแรง
กรมชลประทานปรับปริมาณการรับน้ำเข้าระบบชลประทานทั้งฝั่งซ้ายและฝั่งขวาเหนือเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท ขึ้นเป็นลำดับ ทุ่งที่รับน้ำจากคลองเข้าไปแล้วคือ ทุ่งในพระนครศรีอยุธยา ได้แก่ ผักไห่ เจ้าเจ็ด และบางบาล
รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ฝนที่ตกทางตอนบนของประเทศในช่วงสัปดาห์ที่แล้ว มาถึง จ.นครสวรรค์ ในสัปดาห์แรกของเดือนตุลาคม ประมาณ 2,200-2,400 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีและมีแม่น้ำสะแกกรังไหลมารวมอีกประมาณ 200-400 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ก่อนจะไปสู่เขื่อนเจ้าพระยา ในอัตรา 2,400-2,800 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที การลดปริมาณการระบายท้ายเขื่อนเจ้าพระยาทำโดยแบ่งน้ำเข้าแม่น้ำลำคลองทั้ง 2 ฝั่ง ศักยภาพสูงสุดที่จะแบ่งไปได้คือ 750 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 12 กล่าวว่า ในระยะแรกจะนำน้ำลงทุ่งประมาณ 30% ของพื้นที่ เพื่อให้เหลือช่องว่างรับน้ำได้เพิ่ม หากมีฝนตกในพื้นที่หรือมีพายุเข้าไทยปลายฤดู จากนั้นจะพิจารณาเพิ่มเป็น 50-70% ตามลำดับ
โครงการนี้เป็นความสำเร็จของรัฐบาลและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งได้ให้กรมชลประทานเลื่อนปฏิทินการส่งน้ำให้แก่พื้นที่ลุ่มต่ำในภาคกลางให้ปลูกข้าวเร็วขึ้น 1 เดือน เพื่อที่จะเก็บเกี่ยวได้ทันก่อนน้ำหลาก ผลผลิตข้าวไม่เสียหาย ทุ่งภาคกลาง 12 ทุ่งพื้นที่ 115,000 ไร่ สามารถทำเป็นแก้มลิงรับน้ำได้ถึง 1,500 ล้านลูกบาศก์เมตร
แม้สถานการณ์น้ำในฤดูฝนนี้ไม่ได้เกิดวิกฤติน้ำท่วมน้ำหลาก แต่ยังดำเนินโครงการปล่อยน้ำเข้านา ปล่อยปลาเข้าทุ่ง เพื่อให้ชาวนาทำอาชีพประมงระหว่างเว้นการปลูกข้าว และเมื่อถึงปลายปี น้ำในแปลงนาจะลดลงพอดีกับที่จะตีเทือก หว่านดำทำนาปรังได้ ตรงกับนโยบายที่ให้ปลูกข้าว
ปีละ 2 ครั้ง. – สำนักข่าวไทย