2 ก.พ.- นักวิชาการชี้ ผลเลือกตั้ง อบจ. ไม่ใช่ภาพสะท้อนผลสนามเลือกตั้งใหญ่ในอนาคต เพราะปัจจัยต่างกัน แต่เป็นบทเรียนที่ 3 พรรค “เพื่อไทย-ภูมิใจไทย-ประชาชน” ต้องไปทบทวน
นายยุทธพร อิสรชัย อาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวถึงการเลือกนายกและสมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ที่ผ่านมาว่าอาจยังไม่สามารถสะท้อน หรือทับทาบกับการเลือกตั้งสนามใหญ่ให้เห็นได้ชัดเจน เพราะมีหลายปัจจัย ที่ไม่เหมือนกัน เช่น กติกาการเลือกตั้ง จำนวนผู้ใช้สิทธิ์ เรื่องตระกูลการเมืองและการตัดสินใจของประชาชน ขณะที่การเมืองระดับชาติกับระดับท้องถิ่นมีมุมคิดต่างกันของผู้ใช้สิทธิ์เลือก หรือโหวตเตอร์เพราะในการเลือกตั้งระดับชาติอาจมองไปถึงตำแหน่ง แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี นโยบายพรรคการเมือง และสส.บัญชีรายชื่อ แต่การเมืองท้องถิ่นโหวตเตอร์มองคนที่จะมาแก้ปัญหา ระดับพื้นที่ประจำวัน ซึ่งสิ่งที่คนอยากให้แก้ปัญหามากที่สุดคือสาธารณสุขและสาธารณูปโภค ซึ่งต่างกับปัญหาการเมืองระดับชาติ จึงไม่สามารถบอกได้ว่าผลการเลือกตั้งการเมืองท้องถิ่นออกมาเช่นนี้สุดท้ายแล้วการเมืองระดับชาติ ต้องเป็นไปแบบนี้เช่นเดียวกัน ดังนั้นพรรคการเมืองใดกลุ่มการเมืองใดประสบผลสำเร็จในการเลือกตั้งท้องถิ่น ไม่สามารถบอกได้ ว่าความสำเร็จหรือชัยชนะตรงนี้ หรือความพ่ายแพ้ที่เกิดขึ้น มีผลสู่การเมืองระดับชาติ โปรแกรมการเล่นคนละแบบ แต่อาจพอทำให้เห็นภาพได้ ว่าพื้นที่ตรงไหนใครมีบทบาทอะไร แต่ไม่สามารถยืนยันได้ว่าผลการเลือกตั้งท้องถิ่นจะนำไปสู่ผลการเลือกตั้งการเมืองระดับชาติ ในแบบเดียวกัน
สำหรับปัจจัยที่จะทำให้แต่ละพรรคการเมืองหยิบยกจากสนามเลือกตั้งท้องถิ่นไปทบทวนสำหรับการเลือกตั้งระดับชาติ นายยุทธพรกล่าวว่า ในกรณีของพรรคเพื่อไทย ประเมินไว้ก่อนว่าจะได้ประมาณ 10 ที่นั่ง สิ่งที่ต้องทบทวนคือ การใช้การเมืองสไตล์แบบเดิมโดยมีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นผู้มีบทบาทนำทางการเมือง ไปรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง หรือการวางยุทธศาสตร์ต่างๆ อาจต้องทบทวน เพราะหลายพื้นที่ ไม่ตรงกับที่ประเมินไว้ไม่ชนะขาด เช่นที่จังหวัดเชียงใหม่ และการไปถึง 16 ที่นั่งที่ตั้งเป้าไว้ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย
ขณะที่ เครือข่ายของใกล้ชิดของพรรคภูมิใจไทยนายยุทธพรกล่าวว่าได้ประเมินไว้ว่าจะได้ประมาณ 8-9 ที่นั่ง แต่เมื่อได้มา 9 ที่นั่ง พบว่าใช้ยุทธศาสตร์เน้นการทำงานการเมืองพื้นที่ ใช้ตระกูลการเมือง ซึ่งที่จังหวัดศรีสะเกษผู้สมัครที่พรรคภูมิใจไทยสนับสนุนชนะขาดลอย แต่เมื่อดูการเมืองระดับชาติพบว่าที่จังหวัดศรีสะเกษ สส.ส่วนใหญ่เป็นของพรรคเพื่อไทย จึงอาจทำให้พิจารณาได้ว่าบัตรเลือกตั้ง ที่แยกกันระหว่างท้องถิ่นกับระดับชาติ เป็นสิ่งที่ประชาชนแบ่งโอกาสระดับชาติให้พรรคการเมืองหนึ่ง ระดับท้องถิ่นให้อีกพรรคการเมืองหนึ่ง จึงถือว่าไม่ได้ทับทาบกันพอดีระหว่างการเมืองท้องถิ่นกับระดับชาติ
นายยุทธพร ยังกล่าวถึงการที่พรรคประชาชนตีไข่แตกการเลือกตั้งท้องถิ่นได้ 1 ที่นั่ง จังหวัดลำพูน ว่า จะต้องใช้ให้เป็นประโยชน์ในการทำเป็น sandbox สะท้อนให้ประชาชนทั้งประเทศเห็นว่าคือการเมืองท้องถิ่น ที่พรรคประชาชนอยากนำเสนอ และที่ผ่านมาประชาชนยังไม่ได้เห็นผลงาน จึงเป็นโอกาสใช้พื้นที่ลำพูน ทำให้ประชาชนเห็นสิ่งที่เป็นรูปธรรมจากการทำงาน ของพรรคประชาชน.-1.319 -.-สำนักข่าวไทย