กรุงเทพฯ 21 ม.ค. – อธิบดีกรมลดโลกร้อน ระบุยังต้องติดตามภาคเอกชนและมลรัฐต่างๆ ในสหรัฐฯ ว่าจะมีท่าทีอย่างไรต่อนโยบายของประธานาธิบดีทรัมป์ ซึ่งประกาศให้สหรัฐถอนตัวจากข้อตกลงปารีส โดยคำมั่นที่สหรัฐจะให้เงินแก่กองทุนภูมิอากาศสีเขียว 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จะถูกระงับ ขณะที่ประเทศไทยยังต้องเดินหน้าเตรียมความพร้อมรับมือกับการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่ยากขึ้น รวมถึงการปรับตัวต่อกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมของยุโรป
ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงนโยบายของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่เตรียมนำสหรัฐอเมริกาออกจากข้อตกลงปารีส โดยระบุว่า การประกาศของประธานาธิบดีทรัมป์ไม่ได้สร้างความประหลาดใจเนื่องจากยืนยันชัดเจนเรื่องนี้ตั้งแต่ก่อนเข้ารับตำแหน่งแล้ว โดยการถอนตัวอย่างเป็นทางการจะใช้ระยะเวลา 1 ปี หลังจากการยื่นเรื่อง ซึ่งระหว่างนี้สหรัฐยังคงเป็นภาคีในข้อตกลงดังกล่าว
ผลกระทบจากการถอนตัวของสหรัฐฯ มีหลายประการ โดยเฉพาะด้านการสนับสนุนทางการเงินต่อประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งรัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้ให้คำมั่นว่าจะสนับสนุนเงินทุนกว่า 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ให้กับกองทุนภูมิอากาศสีเขียว (Green Climate Fund) ขององค์การสหประชาชาติ แต่เมื่อทรัมป์ กลับมาดำรงตำแหน่ง เงินทุนดังกล่าวอาจถูกระงับ ส่งผลให้ประเทศกำลังพัฒนาประสบปัญหาในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยปัจจุบันสหรัฐ เป็นผู้สนับสนุนประมาณ 30% ของกองทุนนี้
อีกหนึ่งผลกระทบที่สำคัญคือ การลดความร่วมมือด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระหว่างไทยและสหรัฐ ซึ่งอาจลดลงอย่างมีนัยสำคัญ รวมถึงแนวทางการลงทุนในพลังงานสะอาดและโครงการด้านสิ่งแวดล้อมในไทยที่ต้องพึ่งพาเงินทุนจากภาคเอกชนและภาครัฐของสหรัฐ ก็อาจได้รับผลกระทบ
ดร.พิรุณ มองว่า นโยบายของทรัมป์จะมีผลกระทบต่อการลงทุนและการดำเนินนโยบายภายใน โดยเฉพาะการลงทุนด้านพลังงานสะอาดในสหรัฐ ที่ชะลอตัวลง อย่างเช่น โครงการที่เกี่ยวข้องกับการดักจับและกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture and Storage) อย่างไรก็ตามภายในสหรัฐฯ เอง ยังคงมีมลรัฐกว่า 26 แห่งที่เดินหน้าเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างจริงจัง เช่น แคลิฟอร์เนีย ซึ่งออกกฎหมายเข้มงวดกว่ากฎหมายของรัฐบาลกลาง ส่งผลให้ยังคงมีการดำเนินการในระดับท้องถิ่นและระดับภาคเอกชนต่อไป ขณะที่ภาคเอกชน โดยเฉพาะบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Microsoft Google และ Amazon ที่ยังคงยืนยันเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเนื่องจากต้องแข่งขันในตลาดโลก ดังนั้นจึงต้องติดตามการขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าวของรัฐบาลกลางและการดำเนินงานของมลรัฐ รวมถึงภาคเอกชนว่า จะเป็นอย่างไรต่อไป
สำหรับการเปลี่ยนแปลงนโยบายของสหรัฐฯ อาจส่งผลต่อเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกที่ได้กำหนดไว้ในปี 2035 ซึ่งตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซลง 61-66% จากระดับปี 2005 หากนโยบายทรัมป์ทำให้การลดการปล่อยก๊าซล่าช้า อาจส่งผลต่อความพยายามของประชาคมโลกในการควบคุมอุณหภูมิไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส
ดร.พิรุณ ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า ประเทศไทยต้องเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น โดยต้องสร้างขีดความสามารถให้กับภาคธุรกิจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สามารถแข่งขันและเข้าถึงแหล่งเงินทุนระหว่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากประเทศที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนสูงอาจต้องเผชิญกับมาตรการกีดกันทางการค้าจากสหภาพยุโรปและสหราชอาณาจักร เช่น CBAM (Carbon Border Adjustment Mechanism) ของสหภาพยุโรปซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในปี 2569 ขณะที่สหราชอาณาจักรมีมาตรการแบบเดียวกันซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในปี 2570
ทั้งนี้ แม้ว่าสหรัฐฯ จะถอนตัวออกจากข้อตกลงปารีส แต่ประเทศอื่นๆ เช่น สหภาพยุโรป จีน และอินเดีย ยังคงเดินหน้าอย่างเต็มที่ในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นอกจากนี้ศูนย์กลางเรื่องของการพัฒนาเทคโนโลยีด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ Climate Technology ก็จะมีการเปลี่ยนแปลง จากในรัฐบาลของไบเดนที่ต้องการเป็นผู้นำ ต่อไปจะย้ายศูนย์กลางไปที่สหภาพยุโรปและสแกนดิเนเวียน รวมถึงออสเตรเลียที่ต้องการเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาด้านนี้
สำหรับผลกระทบต่อเป้าหมายลดอุณหภูมิโลก หากสหรัฐฯ เปลี่ยนนโยบาย อาจส่งผลให้เป้าหมายการจำกัดอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียสทำได้ยากขึ้น โดยปัจจุบันสหรัฐฯ ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากเป็นอันดับ 2 ของโลก
ดร.พิรุณ ย้ำว่า ยังต้องต้องจับตามองว่า ภาคเอกชนและมลรัฐในสหรัฐฯ จะดำเนินนโยบายด้านสภาพภูมิอากาศอย่างไรต่อไป แต่สิ่งสำคัญคือ ประเทศไทยต้องเร่งเสริมสร้างเครื่องมือทางกฎหมายและการเงินเพื่อรับมือกับผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทำให้เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติรุนแรงในอนาคต รวมถึงเพิ่มศักยภาพการแข่งขันด้านเศรษฐกิจในตลาดโลกด้วย.- 512 – สำนักข่าวไทย