กรุงเทพฯ 21 ม.ค. – ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย เผยนโยบายของประธานาธิบดีทรัมป์ที่จะให้สหรัฐอเมริกาถอนตัวจากข้อตกลงปารีส อาจต้องเผชิญกับแรงกดดันภายในประเทศจากหลายภาคส่วนที่เห็นถึงความสำคัญของความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมโลกเพื่อลดผลกระทบจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยสหรัฐอเมริกาเองก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงจากภัยพิบัติทางธรรมชาติจากภาวะโลกเดือด
ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย เปิดเผยถึงผลกระทบจากนโยบายของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่มีแผนให้สหรัฐอเมริกาถอนตัวจากข้อตกลงปารีส โดยระบุว่าการตัดสินใจดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อความพยายามของนานาชาติในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและควบคุมภาวะโลกร้อนให้อยู่ในระดับที่ไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับระดับก่อนยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม
ทั้งนี้ สหรัฐเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากจีน โดยจีนปล่อยก๊าซคิดเป็น 26% ของปริมาณทั้งหมด ขณะที่สหรัฐปล่อยอยู่ที่ 13% การถอนตัวจากข้อตกลงของสหรัฐจะส่งผลให้การบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของโลกเป็นไปได้ยากขึ้น อย่างไรก็ตาม ประเทศอื่นๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะสหภาพยุโรปซึ่งมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพียง 7.5% ยังคงมุ่งมั่นเดินหน้าลดการปล่อยก๊าซตามเป้าหมายของข้อตกลงปารีสต่อไป
ดร.วิจารย์ ยังแสดงความกังวลต่อท่าทีของสหรัฐฯ ที่อาจกลับไปใช้นโยบายส่งเสริมพลังงานจากฟอสซิล เช่น การขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ซึ่งขัดแย้งกับแนวทางของประเทศพัฒนาแล้วที่กำหนดเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ภายในปี 2050 นโยบายดังกล่าวจึงส่งผลต่อทิศทางความร่วมมือระหว่างประเทศ
ทั้งนี้ เชื่อว่า นโยบายดังกล่าวของทรัมป์ จะมีแรงกดดันจากประชาชน นักวิทยาศาสตร์ และกลุ่มสิ่งแวดล้อมภายในประเทศยังคงมีบทบาทสำคัญในการผลักดันการลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากภาวะโลกเดือดเนื่องจากภัยพิบัติทางธรรมชาติเช่น น้ำท่วม ภัยแล้ง ส่งผลกระทบต่อทุกประเทศทั่วโลก รวมถึงสหรัฐฯ ด้วย โดยจะทวีความรุนแรงขึ้น หากไม่มีมาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจัง ดังนั้นโลกกำลังจับตาดูท่าทีของสหรัฐฯ ว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไปเนื่องจากแรงกดดันภายในประเทศอาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงท่าที หรือการดำเนินการบางอย่างเพื่อรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม. -512 – สำนักข่าวไทย