รพ.พระนั่งเกล้า 12 ธ.ค.-สธ. จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ การจำกัดพฤติกรรมผู้ป่วยรุนแรงแก่บุคลากรทางการแพทย์ พร้อมถอดบทเรียนกรณีเข้าควมคุมผู้ป่วยที่โรงพยาบาลกันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ จนเสียชีวิต
นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดประชุมเชิงปฏิบัติการ การจำกัดพฤติกรรมผู้ป่วยรุนแรง สำหรับพยาบาล พนักงานช่วยเหลือคนไข้ เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยและบุคลากรทางการแพทย์ ในการประชุมประกอบด้วยการบรรยายและฝึกปฏิบัติ มีผู้เข้าอบรมประมาณ 300 คน
นายสมศักดิ์ ระบุว่า ข้อมูลตั้งแต่ปี 2560-2567 มีสถานการณ์เหตุรุนแรงในโรงพยาบาล 99 เหตุการณ์ ทั้งการทะเลาะวิวาท ทำร้ายเจ้าหน้าที่ ทำลายทรัพย์สิน ก่อความไม่สงบ ทำให้เจ้าหน้าที่และประชาชนได้รับบาดเจ็บ ซึ่งส่งผลต่อความเชื่อมั่นและความปลอดภัยของสถานพยาบาลและขวัญกำลังใจบุคลากร
โดยตัวเลขจำนวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น 99 เหตุการณ์นั้น มีบุคลากรในโรงพยาบาลจิตเวชถูกทำร้ายร่างกาย 312 คน กระทรวงสาธารณสุขจึงมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะให้บุคลากรในสถานพยาบาล ทบทวนแนวทางการจำกัดพฤติกรรมผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงจะก่อเกิดความรุนแรง ทั้งผู้ป่วยจิตเวช ผู้ป่วยยาเสพติด และผู้ป่วยภาวะถอนพิษสุรา ซึ่งหากมีมาตรฐานการเรียนรู้และแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนการแก้ปัญหาต่างๆจะดีขึ้น
จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยในโรงพยาบาลกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ นายสมศักดิ์ ระบุว่า เป็นเหตุการณ์ที่น่าเสียใจ อย่าให้การเสียชีวิตนั้นสูญเปล่า แต่ควรนำมาเป็นให้เป็นกรณีศึกษาให้กับบุคลากรและผู้บริหารโรงพยาบาลถึงแนวทางในการควบคุมผู้ป่วยเพื่อให้ผู้ป่วยมีความปลอดภัย เบื้องต้น ที่พบว่ามีการนำกุญแจมือมาควบคุมผู้ป่วยด้วยนั้น ไม่น่าใช่ของเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล ข้อเท็จจริงจะเป็นอย่างไร อยู่ระหว่างการสอบสวน
ด้าน พญ.ดุษฎี จึงศิรกุลวิทย์ ผู้อำนวยการกองบริหารระบบสุขภาพจิต และโฆษกกรมสุขภาพจิต ระบุว่า ในวิธีการบำบัดรักษาจะต้องมีแพทย์คอยประเมินอาการ และแบ่งการรักษาเป็น 3 แบบ แบบที่ 1 เป็นการพูดคุยความต้องการ เพื่อให้ตัวผู้ป่วยสงบ แต่ถ้าประเมินแล้วผู้ป่วยมีภาวะรุนแรงสูงจะเข้าสู่ขั้นตอนที่ 2 ในการจำกัดพฤติกรรมทางกาย โดยจะมีการผูกยึดที่ข้อมือผู้ป่วยกับเตียง ซึ่งต้องขออนุญาตทางญาติก่อน และในขั้นตอนนี้ไม่เพียงแต่ใช้กับผู้ป่วยจิตเวช แต่ใช้ในผู้ป่วยสูงอายุได้ด้วย เพื่อป้องกันการตกเตียงหรือดึงสายน้ำเกลือ แต่ถ้าในขั้นตอนที่ 2 ยังไม่สามารถระงับตัวผู้ป่วยได้ ในขั้นตอนที่ 3 จะมีการใช้ยาระงับโดยทั้งหมดต้องทำโดยผู้ที่มีประสบการณ์และชำนาญ โดยแพทย์จะเป็นคนสั่งจ่ายยาและให้พยาบาลเป็นคนฉีดยา โดยจะแบ่งเป็นยาฉีดเข้าเส้นเลือด และกล้ามเนื้อ
ขณะเดียวกัน กำลังพลและบุคลากรที่จะเข้าควบคุมดูแลผู้ป่วยมีไม่เพียงพอ ทำให้ในบางครั้ง บางเหตุการณ์ เจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บและถูกทำร้ายจากการปฏิบัติงาน โดย 5 ปีย้อนหลังมีเจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บจากการปฏิบัติหน้าที่กว่า 1,000 คน / ซึ่งทางฝั่งของโรงพยาบาลก็จะมีการทบทวนถึงการใช้อุปกรณ์อื่นๆเพิ่มเติมที่เหมาะสม ในการช่วยจำกัดพฤติกรรมความรุนแรงของผู้ป่วยให้มีความปลอดภัย รวมถึงเจ้าหน้าที่ด้วย.-420.-สำนักข่าวไทย