1 ธ.ค. – “สมศักดิ์” สั่ง สธ.ระดมช่วยน้ำท่วมใต้ เผยส่งทีม MCATT ดูแลสุขภาพจิตลงพื้นที่แล้ว 87 ทีม พร้อมตั้งศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์ระดับจังหวัดแล้ว ยันเคลื่อนย้ายผู้ป่วยใน 4 รพ.ที่ต้องปิดเรียบร้อย ไม่มีกลุ่มเปราะบางตกค้างในพื้นที่ กำชับเฝ้าระวัง 6 กลุ่มโรคระบาด
วันที่ 1 ธันวาคม 2567 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยถึงสถานการณ์อุทกภัยหลายจังหวัดในพื้นที่ภาคใต้ว่า ตนได้รับรายงานการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ด้านสาธารณสุข ในเขตสุขภาพที่ 12 ซึ่งมีจังหวัดที่ได้รับผลกระทบทั้งหมด 7 จังหวัด 328 อำเภอ โดยในจำนวนนี้ มีสถานการณ์รุนแรง 4 จังหวัด คือ สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส กระทรวงสาธารณสุข จึงได้เปิดศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข (PHEOC) ระดับ จังหวัดแล้ว รวมถึงในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 12 ก็ได้ เปิดศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินระดับเขตแล้วเช่นเดียวกัน
นายสมศักดิ์ เปิดเผยอีกว่า ขณะนี้ มีสถานบริการสาธารณสุข ได้รับผลกระทบแล้ว 129 แห่ง โดยได้รับผลกระทบจนเกิดความเสียหาย 85 แห่ง แบ่งเป็นโรงพยาบาล 8 แห่ง และ รพ.สต. 77 แห่ง ซึ่งโรงพยาบาลที่ได้รับผลกระทบรุนแรง มีความจำเป็นต้องหยุดบริการแล้วจำนวน 4 แห่ง คือ รพ.ยะหริ่ง รพ.ทุ่งยางแดง รพ.หนอกจิก และรพ.แม่ลาน โดยทั้งหมดได้เคลื่อนย้ายผู้ป่วยใน ไปรักษาตัวต่อเนื่องที่โรงพยาบาลปัตตานีแล้ว ซึ่งเปิดหอผู้ป่วยเฉพาะกิจเตรียมรับไว้แล้ว รวมถึงได้จัดตั้งโรงพยาบาลสนามในพื้นที่ เพื่อให้บริการผู้ป่วย ต่อเนื่องของทั้ง 3 โรงพยาบาล แต่ยกเว้นโรงพยาบาลหนองจิก เนื่องจากอยู่ใกล้โรงพยาบาลปัตตานี ในระยะ 10 กิโลเมตร จึงให้ผู้ป่วยไปรักษาที่โรงพยาบาลปัตตานีชั่วคราวก่อน ส่วน รพ.สต.ที่ได้รับผลกระทบรุนแรง 77 แห่ง พบว่า ต้องปิดการให้บริการแล้ว 22 แห่ง
“จากรายงานพบว่า ในพื้นที่ประสบอุทกภัย มีประชาชนกลุ่มเปราะบาง จำนวน 2,297 คน ซึ่งได้รับการดูแล และไม่มีรายงานกลุ่มเปราะบาง ตกค้างในพื้นที่เสี่ยง โดยเรื่องนี้ ผมให้ความสำคัญเป็นพิเศษ เพราะเป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อพี่น้องประชาชนโดยตรง จึงได้เน้นย้ำให้ สาธารณสุขจังหวัด ปฎิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัด รวมถึงผมยังมีความห่วงใยเรื่องความเครียด จึงได้มอบหมายให้ ทีมช่วยเหลือเยียวยาจิตใจผู้ประสบภาวะวิกฤต (MCATT) จำนวน 87 ทีม ลงพื้นที่แล้ว โดยได้ลงปฏิบัติงานชุดแรกจำนวน 44 ทีม เพื่อดำเนินการ คือ 1.จัดทีมเยียวยาจิตใจครอบครัวผู้เสียชีวิตในสถานการณ์ดังกล่าว 2.เฝ้าป้องกันกลุ่มเสี่ยง ผู้ที่มีความอ่อนไหวทางด้านจิตใจ กลุ่มผู้ช่วยเหลือ 3.ค้นหา ส่งต่อ เฝ้าระวัง ดูแลผู้ป่วยจิตเวชกลุ่มเสี่ยงไม่ให้ขาดยาเด็ดขาด ผู้ป่วยติดสุรา ขาดสุราหรือหยุดดื่ม ให้เตรียมยาป้องกันอาการลงแดง นอกจากนี้ ผมยังได้มอบหมายให้บุคลากรทางการแพทย์ สำรองเวชภัณฑ์ยาที่จำเป็นด้วย เพื่อช่วยลดผลกระทบต่อพี่น้องประชาชนให้ได้มากที่สุด“ รมว.สาธารณสุข กล่าว
นายสมศักดิ์ เปิดเผยอีกว่า กระทรวงสาธารณสุข ยังได้มีการวางระบบเฝ้าระวังโรคในศูนย์พักพิงชั่วคราวด้วย โดยเฝ้าระวังโรคระบาดใน 6 กลุ่มโรคหลัก คือ กลุ่มโรคทางเดินอาหาร กลุ่มโรคทางเดินหายใจ กลุ่มโรคติดต่อนำโดยยุง กลุ่มโรคที่เกิดจากบาดแผลอักเสบติดเชื้อ กลุ่มโรคอุบัติเหตุไฟช็อตจมน้ำ และโรคที่เกิดจากการทำงานของกลุ่มประชาชน จิตอาสา อาสาสมัคร ซึ่งขณะนี้ ยังไม่พบสัญญาณการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ โรคเลปโตสไปโรซิส ไข้เลือดออก โรคอาหารเป็นพิษ และโรคเมดิอยด์โรซิส ทั้งนี้ ตนขอให้กำลังใจบุคลากรทางการแพทย์ และอสม. ที่ต้องทำงานอย่างหนักในช่วงอุทกภัย รวมถึงช่วงหลังน้ำลดด้วย เพราะต้องช่วยฟื้นฟูด้านสาธารณสุข ทั้งการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ด้านสุขศึกษา เฝ้าระวังโรคที่มากับน้ำท่วม ติดตามสุขภาพร่างกาย จิตใจ ผู้ที่อยู่ในศูนย์ วางแผนการจัดการดูแลผู้ป่วย และแจกจ่ายยาน้ำกัดเท้า ชุดยาสามัญประจำบ้านด้วย.-312-สำนักข่าวไทย