เซี่ยงไฮ้ 27 พ.ย. – ศัลยแพทย์ชาวฝรั่งเศสใช้หุ่นยนต์ที่ผลิตในจีนผ่าตัดมะเร็งต่อมลูกหมากข้ามทวีปให้แก่ผู้ป่วยในโมร็อกโกที่อยู่ห่างออกไป 12,000 กิโลเมตร ถือเป็นความก้าวหน้าทางการแพทย์ครั้งสำคัญ
สำนักข่าวซินหัวของทางการจีนรายงานว่า การผ่าตัดข้ามทวีปมีขึ้นเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน โดยโยเนส อาฮัลลาล แพทย์ชาวฝรั่งเศสที่อยู่ในนครเซี่ยงไฮ้ เป็นการใช้งานหุ่นยนต์ถูม่าย (Toumai) ที่ช่วยให้สามารถถ่ายภาพแบบเรียลไทม์ที่มีความคมชัดสูง และควบคุมเครื่องจักรจากระยะไกลได้อย่างแม่นยำ โดยมีระยะการส่งข้อมูลแบบสองทางเกิน 30,000 กิโลเมตร สร้างสถิติเป็นการผ่าตัดผู้ป่วยมนุษย์จากระยะไกลที่มีระยะห่างมากที่สุด
แขนกลการผ่าตัดในโมร็อกโกที่อยู่ในแอฟริกาเหนือ ทำงานตามคำสั่งการทั้งหมดจากคอนโซลควบคุมของแพทย์ในเซี่ยงไฮ้ที่อยู่ในเอเชีย สามารถตัดเนื้อร้ายที่ต่อมลูกหมากออกและเย็บแผลจนเสร็จเรียบร้อย อีกทั้งสามารถรักษาเส้นประสาท-หลอดเลือดและความยาวสูงสุดของท่อปัสสาวะเอาไว้ โดยการผ่าตัดใช้เวลาน้อยกว่า 2 ชั่วโมง และมีความหน่วงทางเดียว (one-way latency) เพียง 100 มิลลิวินาที
นายแพทย์อาฮัลลาลระบุว่า แม้ว่าการส่งสัญญาณวิดีโอแบบเรียลไทม์ครั้งนี้เชื่อมต่อผ่านบรอดแบนด์มาตรฐาน แทนเทคโนโลยี 5G แต่สัญญาณก็ค่อนข้างชัดเจนและราบรื่น หุ่นยนต์ผ่าตัดยังมีความยืดหยุ่น แม่นยำ และเสถียรอย่างมาก ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการผ่าตัดที่ซับซ้อนและมีความยากสูง
การผ่าตัดดังกล่าวมีขึ้นหลังจากที่หุ่นยนต์ถูม่ายเคยถูกนำมาช่วยในการผ่าตัดซีสต์ที่ไตแบบแผลเล็กเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ระหว่างแพทย์ในนครเซี่ยงไฮ้กับผู้ป่วยที่ท่าเรือโคโตนูในเบนินที่อยู่ในแอฟริกาตะวันตก ซึ่งมีระยะการส่งข้อมูลไป-กลับ 27,000 กิโลเมตร
การผ่าตัดทางไกลช่วยให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาโดยศัลยแพทย์ชั้นนำจากทั่วโลกได้มากขึ้น โดยที่ไม่จำเป็นต้องเดินทางไปต่างประเทศ ทั้งยังช่วยให้ศัลยแพทย์อาวุโสสามารถให้คำปรึกษาแก่เพื่อนร่วมงานรุ่นน้องในกระบวนการผ่าตัดที่มีความยากได้ผ่านทางระยะไกล
เหอเชา ประธานบริษัท ไมโครพอร์ต เม็ดบ็อต (MicroPort MedBot) ซึ่งพัฒนาหุ่นยนต์ถูม่ายเผยว่า หุ่นยนต์ถูม่ายถูกนำมาใช้ในการผ่าตัดทางไกลพิเศษ 5G มากกว่า 250 ครั้ง และมีอัตราความสำเร็จที่ร้อยละ 100 โดยมีระยะทางการส่งสัญญาณสะสมกว่า 4 แสนกิโลเมตร
ปัจจุบันหุ่นยนต์ถูม่ายซึ่งได้รับการรับรองกฎระเบียบว่าด้วยความปลอดภัย (CE certification) ของสหภาพยุโรปเมื่อเดือนพฤษภาคม ได้รับอนุมัติให้ใช้ในขั้นตอนการผ่าตัดหลายรายการแล้ว ซึ่งรวมถึงการผ่าตัดระบบทางเดินปัสสาวะ การผ่าตัดทั่วไป การผ่าตัดทรวงอก และการส่องกล้องทางนรีเวช
ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา หุ่นยนต์ผ่าตัดได้กลายมาเป็นแนวโน้มใหม่สำหรับกลุ่มสตาร์ทอัปเทคโนโลยีของจีน รายงานวิจัยอุตสาหกรรมล่าสุดระบุว่า ตลาดหุ่นยนต์ผ่าตัดของจีนจะมีขนาดใหญ่ถึง 38,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.33 ล้านล้านบาท) ภายในปี 2569 คิดเป็นอัตราการเติบโตรายปีที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกอย่างมาก
มีการคาดการณ์ว่า การใช้งานเครือข่าย 5G ที่แพร่หลายในจีนจะขยายศักยภาพของตลาดหุ่นยนต์สำหรับการผ่าตัดทางไกลอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะทำให้การผ่าตัดทางไกลเป็นตัวเลือกที่คุ้มค่าและเข้าถึงได้มากขึ้นในบริการด้านการดูแลสุขภาพ กระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศของจีน ระบุว่าจีนมีสถานีฐาน 5G มากกว่า 4 ล้านแห่ง เมื่อนับถึงสิ้นเดือนสิงหาคม.-814.-สำนักข่าวไทย