กรุงเทพฯ 12 พ.ย. – กรมชลประทานถอดบทเรียนสถานการณ์น้ำ จัดเสวนา “สรุปการบริหารจัดการน้ำฤดูฝนปี 2567 และเตรียมความพร้อมสู่ฤดูแล้งปี 2567/2568” ชี้การบริหารจัดการน้ำยุคใหม่ต้องรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
การเสวนาครั้งนี้มีนายสมควร ต้นจาน ผู้อำนวยการกองพยากรณ์อากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ปัจจุบันคาบของปรากฏการณ์เอนโซสั้นขึ้น ปี 2567 เกิดทั้งเอลนีโญและลานีญาทั้งแล้งและฝนมากในปีเดียวกัน ซึ่งกรมอุตุนิยมวิทยาพยายามจะคาดการณ์และพยากรณ์อากาศด้วยการนำปัจจัยของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมาวิเคราะห์ด้วยเพื่อให้เกิดความแม่นยำและให้หน่วยงานบริหารจัดการน้ำนำไปใช้กำหนดแนวทางการบริหารจัดการน้ำ
นายธเนศร์ สมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา กรมชลประทาน เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้สิ้นสุดการบริหารจัดการน้ำฤดูฝนของปี 2567 (1 พ.ค.-30 ต.ค.67) แล้ว ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กรมชลประทาน ได้บริหารจัดการน้ำอย่างเต็มศักยภาพ มีการติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำท่า เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์วางแผนการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ควบคู่ไปกับการเก็บกัก เพื่อสำรองไว้ใช้ในฤดูแล้งนี้ได้อย่างเพียงพอ ส่งผลให้เมื่อสิ้นสุดฤดูฝน ณ วันที่ 1 พ.ย.67 อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 63,348 ล้าน ลบ.ม. (83% ของความจุอ่างฯ รวมกัน) เป็นน้ำใช้การได้ 39,405 ล้าน ลบ.ม. มากกว่าปีที่ผ่านมา 2,511 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน 21,688 ล้าน ลบ.ม. (87% ของความจุอ่างฯ รวมกัน) เป็นน้ำใช้การได้ 14,992 ล้าน ลบ.ม. มากกว่าปีที่ผ่านมาถึง 3,907 ล้าน ลบ.ม. ภาพรวมสถานการณ์น้ำอยู่ในเกณฑ์ดี
ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 11พ.ย.67) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 63,606 ล้าน ลบ.ม. (83% ของความจุอ่างฯ รวมกัน) เป็นน้ำใช้การได้ 39,663 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 21,933 ล้าน ลบ.ม. (88% ของความจุอ่างฯ รวมกัน) เป็นน้ำใช้การได้ 15,237 ล้าน ลบ.ม.
กรมชลประทาน ได้วางแผนจัดสรรน้ำฤดูแล้ง ระหว่างวันที่ 1 พ.ย.67-30 เม.ย.68 ตามปริมาณน้ำต้นทุน 44,250 ล้าน ลบ.ม. เพื่อสนับสนุนการใช้น้ำในทุกกิจกรรมตามลำดับความสำคัญ แบ่งเป็นน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ การเกษตร อุตสหกรรม และอื่นๆ รวมทั้งประเทศประมาณ 29,170 ล้าน ลบ.ม. และสำรองไว้ใช้ต้นฤดูฝนหน้า (พ.ค.-ส.ค.68) อีกประมาณ 15,080 ล้าน ลบ.ม. จนถึงขณะนี้ทั้งประเทศมีการจัดสรรน้ำไปแล้ว 909 ล้าน ลบ.ม.(4% จากแผนฯ) เฉพาะลุ่มเจ้าพระยาจัดสรรน้ำไปแล้ว 147 ล้าน ลบ.ม. (2% จากแผนจัดสรรน้ำรวม 9,000 ล้าน ลบ.ม.)
ด้านผลการเพาะปลูกพืชทั้งประเทศ ปัจจุบันมีการเพาะปลูกไปแล้วรวม 2.7 แสนไร่ (3% จากแผนที่กำหนดไว้ 10.02 ล้านไร่) เฉพาะพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยามีการเพาะปลูกแล้ว 2.4 แสนไร่ (4% จากแผนที่กำหนดไว้ 6.47 ล้านไร่) ซึ่งเป็นไปตามแผนที่กำหนด
สำหรับพื้นที่ภาคใต้ที่อยู่ในช่วงฤดูฝน กรมชลประทาน ได้เตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้น โดยมีการวางแผนจุดเสี่ยง/จุดเฝ้าระวัง ในพื้นที่ภาคใต้รวม 122 แห่ง และได้ดำเนินการเตรียมความพร้อมเครื่องจักร-เครื่องมือในภาคใต้รวม 575 หน่วย แบ่งเป็น เครื่องสูบน้ำ 120 เครื่อง เครื่องผลักดันน้ำ 108 เครื่อง รถบรรทุกน้ำ 11 คัน และเครื่องจักรอื่นๆ อีกกว่า 336 หน่วย เข้าประจำพื้นที่เสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมเป็นประจำ ให้สามารถนำไปใช้งานได้ทันทีเมื่อเกิดสถานการณ์ เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนให้ได้มากที่สุด
สำหรับแนวทางบริหารจัดการในยุคปัจจุบันต้องรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยเช่น ในฤดูฝนที่ผ่านมา ฝนตกกระจุกในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน กรมชลประทานจึงติดตามการคาดการณ์สภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์วางแผนการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ สามารถรับมือกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งปฏิบัติตามมาตรการรองรับฤดูแล้งปี 2567/68 ที่คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) เห็นชอบ ด้วยการคาดการณ์และป้องกันพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ วางแผนจัดสรรน้ำและกำหนดพื้นที่เพาะปลูกพืชฤดูแล้ง พร้อมบริหารจัดการน้ำให้เป็นไปตามลำดับความสำคัญ การใช้น้ำตามที่คณะกรรมการลุ่มน้ำกำหนด เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำเพื่อลดการสูญเสียน้ำในทุกภาคส่วน รวมไปถึงการเฝ้าระวังคุณภาพน้ำตลอดในช่วงฤดูแล้ง เสริมความเข้มแข็งด้านการบริหารจัดการน้ำให้ชุมชน ตลอดจนประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ถึงสถานการณ์น้ำให้ประชาชนได้รับทราบอย่างต่อเนื่องและทั่วถึง.-512 – สำนักข่าวไทย