รร.เซ็นทาราแกรนด์ 15 ก.ย.-ในการประชุมวิชาการ 3 สถาบันแพทย์ จุฬา-รามา-ศิริราช แถลงข่าวบุหรี่ไฟฟ้า กับเยาวชน โดยแพทย์ ห่วงปัญหาบุหรี่ไฟฟ้า ทำเยาวชนติดบุหรี่ง่ายขึ้น ชี้อัตราบุหรี่ไฟฟ้านอกจากรับนิโคตินเร็ว การเผาไหม้ในหลอดดูดยังส่งผลให้ได้รับสารโลหะหนักเข้าร่างกายเพิ่มมากขึ้น
รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธ์ อายุรแพทย์ ระบบทางเดินหายใจ รพ.จุฬาลงกรณ์ กล่าวว่า ห่วงการใช้บุหรี่ไฟฟ้าในเยาวชน เนื่องจากพบว่า เพิ่มมากขึ้น ในกลุ่มชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น เป็นชาย ร้อยละ 17.8 หญิง ร้อยละ5.2 ขณะที่อัตราการสูบในผู้ใหญ่ลดลง โดยพบว่าอัตราการสูบบุหรี่ของไทยคงที่อยู่ที่ 10-11 ล้านคน เสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ 50,000 คน ต่อปี
สำหรับการใช้บุหรี่ไฟฟ้าในเยาวชน เริ่มพบมากขึ้น มีการใช้ถึง ร้อยละ 3.3 เป็นนักเรียนชายมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 ร้อยละ 5 ในนักเรียนหญิง ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 ร้อยละ 3
ด้าน รศ.นพ. นิธิพัฒน์ เจียรสกุล อายุรแพทย์ ระบบทางเดินหายใจ รพ.ศิริราช กล่าวว่า อันตรายในบุหรี่ไฟฟ้า นอกจาการได้รับนิโคตินอย่างรวดเร็วแล้ว ยังจะได้รับอันตรายจากการเผาไหม้สารโลหะหนักของสารนิโคตินในหลอดดูดและหากมีการผสมปรุงแต่งรสชาติ ทั้งสตรอเบอรี่และช็อกโกแลต ยิ่งทำให้อัตราการเผาไหม้ของสารโลหะหนัก(ทั้งนิเกิล โครเมียม แคดเมียม )เพิ่มมากขึ้น มีผลกระทบต่อสมอง หัวใจและไต และยังเป็นสารก่อมะเร็ง เพราะอนุภาคขนาดเล็กในการเผาไหม้ขนาด 2.5 ไมโครเมตร จะเข้าไปทำลายในถุงลม และจากข้อมูลยังพบว่าอีกว่า การติดบุหรี่ไฟฟ้า ส่งผลให้ร่างกาย สามารถพัฒนาติดบุหรี่มวนและสารเสพติดอื่นง่ายขึ้น .-สำนักข่าวไทย