บรัสเซลส์ 20 ธ.ค. – เบลเยียมจะกลายเป็นประเทศแรกในสหภาพยุโรปที่ห้ามจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าแบบใช้แล้วทิ้งในเดือนมกราคมปีหน้า เนื่องจากกังวลเกี่ยวกับการใช้บุหรี่ไฟฟ้าในเด็ก และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้นได้
แฟรงก์ แวนเดนบรูค รัฐมนตรีสาธารณสุขเบลเยียม กล่าวกับรอยเตอร์สว่า บุหรี่ไฟฟ้าแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง ถูกออกแบบมาให้ดึงดูดเยาวชนและผู้ใช้รายใหม่ที่อาจจะไม่เคยสูบบุหรี่มาก่อน การเคลื่อนไหวดังกล่าวของรัฐบาล ถือเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการต่อต้านการสูบบุหรี่ในประเทศ ซึ่งข้อมูลของรัฐบาลแสดงให้เห็นว่า เยาวชนที่สูบบุหรี่ส่วนใหญ่เริ่มต้นนิสัยการสูบบุหรี่ด้วยบุหรี่ไฟฟ้า แทนการสูบบุหรี่แบบปกติ และจะช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากบุหรี่ไฟฟ้าแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ที่ประกอบด้วยพลาสติก สารเคมี และแบตเตอรีที่ไม่สามารถชาร์จไฟใหม่ได้ โดยในประเทศเบลเยียม การขายบุหรี่ไฟฟ้าให้กับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีถือเป็นสิ่งผิดกฎหมาย
ในปี 2565 องค์การอนามัยโลก หรือดับเบิลยูเอชโอ สำรวจชาวเบลเยียม 20,000 คน อายุ 11-18 ปี พบว่า ร้อยละ 12 บอกว่า พวกเขาเคยใช้บุหรี่ไฟฟ้าในช่วง 30 วันล่าสุด ซึ่งเพิ่มขึ้นมากกว่าสองเท่าในปี 2561
หนึ่งในเจ้าของร้านขายบุหรี่ไฟฟ้าในกรุงบรัสเซลส์ เมืองหลวงเบลเยียม กล่าวว่า เขาสนับสนุนการห้ามดังกล่าว และว่าลูกค้าส่วนใหญ่ไม่รีไซเคิลแบตเตอรี่ของตน จึงน่าจะเป็นเรื่องดีกว่าที่ลูกค้าจะใช้แบตเตอรี่รุ่นที่สามารถนำมาใช้ซ้ำได้ ส่วนผู้สนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้ากล่าวว่า บุหรี่ไฟฟ้าสามารถช่วยให้ผู้คนเลิกสูบบุหรี่ธรรมดาได้
เยอรมนีและฝรั่งเศส กำลังผลักดันกฎหมายห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้าแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง ขณะที่อังกฤษ ซึ่งไม่ได้เป็นสมาชิกสหภาพยุโรปแล้ว จะห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้าในเดือนมิถุนายนปีหน้า.815.-สำนักข่าวไทย