ไหหลำ 7 พ.ย. – พลังน้ำแบบสูบกลับทางเลือกเสริมมั่นคงไฟฟ้า-ต้นทุนต่ำ รับเทรนด์ RE ตามร่างแผน PDP2024 กฟผ.เตรียมสร้างเพิ่มพลังน้ำสูบกลับ 3 แห่ง 2,400 MW. พร้อมเสริมความมั่นคงคน กทม.ขยายกำลังผลิต รฟ.พระนครเหนือ, พระนครใต้อีกโรงละ 700 MW.
นายธวัชชัย สำราญวานิช รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเปิดเผยว่า กฟผ.ศึกษาข้อมูลด้านพลังงานทั่วโลกเพื่อนำมาเสนอกระทรวงพลังงาน นำมาปรับใช้กับประเทศไทยรองรับทิศทางพลังงานและเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลง ล่าสุดมาดูงานที่ Hainan Energy Data Center เกาะไหหลำ (ไห่หนาน) สาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นศูนย์กลางรวบรวมข้อมูลและให้บริการด้านพลังงานของมณฑลไห่หนาน มีการกำหนดนโยบายและวางแผนการพัฒนาพลังงานรองรับและสนับสนุนการใช้พลังงานสะอาด (Renewable Energy:RE) ซึ่งที่นี่เตรียมแผนให้เป็นเกาะพลังงานสะอาดจะมีการใช้พลังงานทดแทนถึง 60% ในอนาคตมีทั้งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์, ลม, แสงอาทิตย์
อย่างไรก็ตาม เพื่อรองรับความไม่แน่นอนของพลังงานลม, แสงอาทิตย์ที่นี่จึงใช้รูปแบบการกักเก็บพลังงานในหลากหลายทั้งระบบแบตเตอรี่, การใช้เขื่อนพลังงานแบบสูบกลับ การใช้เทคโนโลยีมาบริหารจัดการโครงข่ายไฟฟ้าให้มีความทันสมัย ยืดหยุ่น (Grid Modernization) ซึ่งไทยใช้รูปแบบนี้เช่นกันเพื่อเตรียมพร้อมรับแผนไฟฟ้าระยาว หรือร่างแผนพีดีพี 2024 ที่ไทยจะใช้พลังงานทดแทนเพิ่มจาก 20% เป็น 50% ในอนาคต โดยหนึ่งในแผนนี้จะมีการศึกษาก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับแห่งละ 800 เมกะวัตต์ 3 แห่ง ที่เขื่อนจุฬาภรณ์, เขื่อนวชิราลงกรณ์ และพื้นที่กระทูน จ.นครศรีธรรมราชรวมกำลังผลิตราวกว่า 2,400 เมกะวัตต์ ลงทุนกว่า 90,000 ล้านบาท ซึ่งมีประโยชน์ช่วยสร้างความมั่นคงและค่าไฟราคาต่ำ ในขณะที่เพื่อเสริมความมั่นคงสำหรับพื้นที่ที่มีความต้องการใช้พลังงานมากที่สุดในประเทศพื้นที่ของการไฟฟ้านครหลวงจึงเตรียมแผนลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติที่โรงไฟฟ้าพระนครเหนือและพระนครใต้เพิ่มอีกแห่งละ 700 เมกะวัตต์ ตามแผนจะเข้าระบบปี 2571 และ 2573 ตามลำดับ
“ระบบไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับในส่วนของเขื่อนจุฬาภรณ์ผ่านอีไอเอแล้วต้นทุนค่าไฟเพียงกว่า 2 บาท/หน่วย ถือว่าต่ำมากและเสริมความมั่นคงเสริม RE ที่จะเพิ่มขึ้นตามเทรนด์โลกที่ลดการปลดปล่อยคาร์บอนลดผลกระทบโลกร้อน” นายธวัชชัย กล่าว
ทั้งนี้ Hainan Energy Data Center ติดตามข้อมูลการใช้พลังงานของประชากรและบริษัทอุตสาหกรรมทั้งในปัจจุบันและอดีต ข้อมูลสมดุลการผลิตและใช้พลังงานของมณฑลไห่หนาน การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากพลังงานที่ใช้ในพื้นที่ต่าง ๆ ได้ รวมทั้งเป็นข้อมูลด้านจีพีเพื่อเป็นข้อมูลด้านเศรษฐกิจตามแผนไห่หนานจะเป็นเกาะพลังงานสะอาดในปี 2573 มีการใช้ RE ราว 60% คาดว่าต้นทุนค่าไฟต่ำลงเพราะมีทั้งนิวเคลียร์, ลม, แสงอาทิตย์และอื่น ๆ
ในขณะที่ประเทศไทยได้นำเทคโนโลยีมาบริหารจัดการโครงข่ายไฟฟ้าให้มีความทันสมัย ยืดหยุ่น (Grid Modernization) เพื่อรองรับการเพิ่มขึ้นของพลังงานหมุนเวียน อาทิ จัดตั้งศูนย์พยากรณ์การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (Renewable Forecast Center) โดยนำข้อมูลการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ของโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) จำนวน 29 แห่ง ที่เชื่อมต่อกับระบบของ กฟผ. มาวิเคราะห์และประมวลผลพยากรณ์กำลังการผลิตไฟฟ้าเพื่อนำไปใช้วางแผนการผลิตไฟฟ้าร่วมกับโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงประเภทอื่น ๆ ให้สอดคล้องกับความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศ ซึ่งมีทั้งรูปแบบการพยากรณ์การผลิตไฟฟ้าระยะสั้น (Day-ahead Forecast) แบบล่วงหน้า 10 วัน เพื่อใช้สำหรับวางแผนการผลิตไฟฟ้าระยะสั้น-กลาง และการพยากรณ์ภายในวัน (Intraday Forecast) ทุก 1 ชั่วโมง และ 6 ชั่วโมง ซึ่งปัจจุบันเพื่อใช้สำหรับการวางแผนควบคุมระบบไฟฟ้าแบบเรียลไทม์ รวมถึงจัดตั้งศูนย์ควบคุมการตอบสนองด้านโหลด (Demand Response Control Center) เพื่อลดปริมาณการใช้ไฟฟ้าจากผู้ใช้ไฟฟ้าที่สมัครใจในช่วงความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงเพื่อสร้างความสมดุลให้ระบบไฟฟ้า และลดต้นทุนค่าไฟฟ้าในภาพรวมของประเทศ เตรียมพร้อมต่อยอดสู่โรงไฟฟ้าเสมือน (Virtual Power Plant) ในการบริหารจัดการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนได้อย่างต่อเนื่อง. -511-สำนักข่าวไทย