นายกฯ เสนอที่ประชุม ACMECS แก้ปัญหายาเสพติด-อาชญากรข้ามชาติ ร่วมกัน

นครคุนหมิง 7 พ.ย.-“แพทองธาร” นายกฯ เสนอแก้ไขปัญหายาเสพติด อาชญากรข้ามชาติ ภัยภิบัติทางธรรมชาติ ร่วมกันในที่ประชุมผู้นำ 5 ประเทศลุ่มน้ำอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง ครั้งที่ 10 ชี้ประสบผลสำเร็จเกินคาด ทุกประเทศเห็นพ้องจับมือกันพัฒนาในทุกมิติ

น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวถ้อยแถลงในการประชุมผู้นำยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (Ayeyawady – Chao Phraya – Mekong Economic Cooperation Strategy: ACMECS) ครั้งที่ 10 ที่มีผู้นำ 5 ประเทศ คือสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวเป็นประธานการประชุมฯ และนายกรัฐมนตรีจากราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม เข้าร่วมด้วย


นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยสาระสำคัญของถ้อยแถลง ดังนี้ นายกรัฐมนตรีขอบคุณนายกรัฐมนตรี สปป ลาว ที่ได้จัดการประชุมในวันนี้ นับเป็นเวลาถึง 21 ปี นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2546 ซึ่งขณะนั้นประเทศไทยได้ริเริ่มและร่วมกันก่อตั้ง ACMECS ด้วยเชื่อมั่นในศักยภาพทางเศรษฐกิจของอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงที่มีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ พื้นที่ยุทธศาสตร์เป็น “สะพาน” เชื่อมระหว่างมหาสมุทรอินเดียกับมหาสมุทรแปซิฟิก และบทบาทที่มีความสำคัญมากขึ้นในการส่งเสริมความเชื่อมโยงในอาเซียนและระหว่างภูมิภาคต่างๆ ซึ่งนายกรัฐมนตรีมองว่า ACMECS ในวันนี้เติบโตเปรียบเสมือนคนวัยหนุ่มสาวที่เปี่ยมไปด้วยความหวังและพลังที่จะเก็บเกี่ยวผลประโยชน์และพัฒนาอย่างยั่งยืน

นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อไปว่า พัฒนาการของ ACMECS ในช่วงกว่า 4 ปีที่ผ่านมา ภายใต้วิสัยทัศน์ “การเสริมสร้าง ACMECS ที่เชื่อมโยงกัน” แบบไร้รอยต่อ (Seamless Connectivity) ผ่านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและเส้นทางคมนาคม ทั้งทางบก น้ำ และอากาศ ซึ่งไทยได้เชื่อมโยงเส้นทางต่างๆ อาทิ การก่อสร้างถนนเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก – ตะวันตก เส้นทางระเบียงเศรษฐกิจตอนใต้ ตลอดจนส่งเสริมการทำงานร่วมกันในพื้นที่ท้องถิ่นผ่านระเบียงเศรษฐกิจหลวงพระบาง – อินโดจีน – เมาะลำไย พร้อมทั้งสร้างการสอดประสานด้านเศรษฐกิจ เน้นการอำนวยความสะดวกและส่งเสริมการค้าชายแดน การปรับกฎระเบียบด้านการค้าและการลงทุนให้สอดคล้องกัน อาทิ กฎระเบียบด้านการขนส่งข้ามพรมแดนภายใต้แผนงาน GMS และร่วมกันพัฒนาอนุภูมิภาคในมิติความยั่งยืนและนวัตกรรม โดยเน้นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการยุคใหม่ ซึ่งในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ไทยได้ให้ทุนการศึกษาและจัดการฝึกอบรมแก่บุคลากรในประเทศสมาชิกกว่า 100 ราย และไทยจะต่อยอดโครงการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานในกัมพูชา สปป ลาว และเมียนมา เพื่อให้มั่นใจว่า “อนุภูมิภาคของเราจะเติบโตโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”


“ดิฉันภูมิใจอย่างยิ่งที่ไทยได้เป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อน ACMECS ในมิติอื่นๆ โดยเฉพาะการได้รับความไว้วางใจให้เป็นที่ตั้งที่กรุงเทพฯ และทำหน้าที่สำนักงานเลขาธิการชั่วคราว ACMECS ซึ่งเป็นกลไกกลางในการวางแผนยุทธศาสตร์ที่สำคัญ และประสานงานทั้งภายในและภายนอกอนุภูมิภาค ซึ่งที่ผ่านมามีการส่งเสริมความเป็นปึกแผ่นและสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับ ACMECS ผ่านการเปิดตัวตราสัญลักษณ์ และเว็บไซต์ ACMECS และในที่ประชุมวันนี้ได้ต้อนรับประเทศนิวซีแลนด์ ในฐานะหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาประเทศที่ 7 สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญและศักยภาพของความร่วมมือในกรอบ ACMECS” นายกรัฐมนตรี ระบุ

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่าสมาชิกทั้ง 5 ประเทศ” เป็นเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนติดกัน มีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดและเกื้อกูลกัน มีผลประโยชน์และศักยภาพร่วมกันในด้านต่าง ๆ ขณะเดียวกันก็เผชิญกับความท้าทายร่วมกัน ทั้งอาชญากรรมข้ามพรมแดน มลพิษทางอากาศ และภัยธรรมชาติอันเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การประชุมในวันนี้จึงควรร่วมกันพิจารณานำกรอบความร่วมมือ ACMECS มาใช้ในการช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้เกิดประสิทธิภาพอย่างสูงสุด ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้เสนอ 3 แนวทาง เพื่อรับมือกับความท้าทายต่าง ๆ ภายใต้กรอบ ACMECS ดังนี้

ประการที่ 1 ปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ โดยเฉพาะการค้ายาเสพติดและอาชญากรรมทางไซเบอร์ ซึ่งตามรายงานของสำนักงาน ว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ ในปี ค.ศ. 2023 เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีการยึดเมทแอมเฟตามีนมากถึง 170 ตัน และเคตามีน 22 ตัน ขณะเดียวกัน อาชญากรรมทางไซเบอร์ยังได้กลายเป็นภัยคุกคามที่สำคัญในอนุภูมิภาค


ที่ผ่านมา มีการรายงานความเสียหายทางเศรษฐกิจในประเทศไทยระหว่างเดือนมีนาคม ค.ศ.2023 ถึงมีนาคม ค.ศ.2024 มีมูลค่าสูงกว่า 1.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ประเทศไทยจึงขอสนับสนุนให้ประเทศสมาชิกใช้กลไกตามกรอบความร่วมมือต่าง ๆ อาทิ ปฏิบัติการแม่น้ำโขงปลอดภัย ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยเฉพาะการสกัดกั้นการนำเข้าสารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์ ในการผลิตยนาเสพติด การปราบปรามการผลิต การค้ายาเสพติด รวมถึงการเสริมสร้างพัฒนาความเข้มแข็งและยกระดับความร่วมมือในด้านต่าง ๆ และพร้อมที่จะเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการจัดประชุมและพบปะกันอย่างสม่ำเสมอ

ประการที่สอง เรื่องมลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะฝุ่น PM2.5 ซึ่งช่วงเวลานี้ จะเป็นช่วงที่ปัญหามลพิษทางอากาศเริ่มกลับมามีความรุนแรง ประชากรกว่า 200 ล้านคนในอนุภูมิภาค หรือ 650 ล้านคนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ต้องอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีค่ามลพิษทางอากาศสูงกว่าคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก ทำให้อายุขัยเฉลี่ยของประชาชนลดลงประมาณ 1.5 ปี และเพิ่มจำนวนผู้ป่วยโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ ประเทศไทยจึงมุ่งมั่นดำเนินความร่วมมือกับประเทศสมาชิก เพื่อลดจุดความร้อนตามแผนปฏิบัติการเชียงราย ค.ศ. 2017 ซึ่งเมื่อวันที่ 29 ตุลาคมที่ผ่านมา ไทยร่วมกับ สปป.ลาว และเมียนมา จัดพิธีเปิดตัว “ยุทธศาสตร์ฟ้าใส” เพื่อเป็นหนึ่งในต้นแบบความร่วมมือในการร่วมกันแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดนในภูมิภาค ให้เป็นไปตามแผนปฏิบัติการเชียงรายฯ และเพื่อบรรลุเป้าหมายการเป็นภูมิภาคอาเซียนที่ปลอดหมอกควันภายในปี ค.ศ. 2030

ประการสุดท้าย เรื่องภัยพิบัติทางธรรมชาติที่มาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยในช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา มีประชาชนกว่า 5 ล้านคนในอนุภูมิภาค ต้องเผชิญกับผลกระทบจากไต้ฝุ่น “ยางิ” โดยมีมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจสูงถึง 16,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตัวเลขเหล่านี้ไม่ใช่เป็นเพียงแค่สถิติ แต่เป็นชีวิต บ้านเรือน ทรัพย์สิน และเป็นความเสียหายทางเศรษฐกิจที่ประชาชนได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง

นายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร ได้ใช้โอกาสนี้แสดงความเสียใจต่อความสูญเสียในกัมพูชา สปป ลาว เมียนมา และเวียดนาม จากอุทกภัยในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา พร้อมเน้นย้ำถึงการบริหารจัดการน้ำในอนุภูมิภาค ซึ่งถือเป็นประเด็นเร่งด่วนที่สุดในขณะนี้ โดยไทยได้เสนอเอกสารแนวคิดเรื่องการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง เป็นภาคผนวกเพิ่มเติมในแผนแม่บท ACMECS เพื่อเป็นแนวทางเสริมสร้างความร่วมมือ และเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการน้ำทั้งในระยะสั้นและระยะยาว และเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างแท้จริง ไทยพร้อมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับเจ้าหน้าที่ ACMECS ในโอกาสแรก เพื่อร่วมกำหนดท่าทีในการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ รวมทั้งใช้ประโยชน์จากทุกกรอบความร่วมมือในอนุภูมิภาคให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ทั้งนี้ ACMECS ควรเร่งรัดการจัดตั้งกองทุนเพื่อการพัฒนา ACMECS เพื่อรับมือกับความท้าทายเหล่านี้อย่างเร่งด่วนและระดมทุนสำหรับพัฒนาโครงการต่าง ๆ ภายใต้แผนแม่บท ACMECS โดยไทยยืนยันคำมั่นที่จะสนับสนุนเงินให้แก่กองทุนฯ และหวังอย่างยิ่งว่าจะสามารถหาข้อสรุปร่วมกันเกี่ยวกับกลไกการบริหารกองทุนฯ ได้ภายในไตรมาสแรกของปี ค.ศ.2025 เพื่อให้สามารถดำเนินโครงการที่ก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม พร้อมเชิญชวนให้ประเทศสมาชิกและประเทศหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา ตลอดจนประเทศที่มีศักยภาพ องค์กรระหว่างประเทศ รวมถึงสถาบันการเงินต่าง ๆ ร่วมสมทบกองทุนฯ เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงอย่างยั่งยืนต่อไป

นายจิรายุ กล่าวต่อไปว่า นายกรัฐมนตรี ย้ำว่า การประชุมผู้นำ ACMECS ในวันนี้ ถือเป็นการส่งสัญญาณสำคัญต่อประชาคมโลกว่า ท่ามกลางความขัดแย้งและการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ ACMECS พร้อมที่จะผนึกกำลังเป็นหนึ่งเดียวกันเพื่อเดินหน้าและกำหนดทิศทางขับเคลื่อนความร่วมมือ เพื่อมุ่งสร้างโอกาส การพัฒนา และความเสมอภาคทางเศรษฐกิจให้แก่ประชาชน ควบคู่ไปกับการสนับสนุนการสร้างประชาคมอาเซียน และการส่งเสริมการดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 โดยไทยยึดมั่นที่จะมีบทบาทสร้างสรรค์ในการขับเคลื่อนความร่วมมือภายใต้กรอบ ACMECS บนพื้นฐานการเป็น “ผู้ส่งเสริมสันติภาพและความมั่งคั่งร่วมกัน” พร้อมทั้งสนับสนุนการดำรงตำแหน่งประธาน ACMECS ของเมียนมาในวาระต่อไป ตลอดจนพร้อมทำงานร่วมกับทุกประเทศสมาชิกในการเสริมสร้างจุดแข็งและศักยภาพที่หลากหลาย เพื่อกำหนดทิศทางความร่วมมือของ ACMECS ให้ก้าวไปข้างหน้าด้วยกัน เพื่อเป็นกลจักรสำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจของอนุภูมิภาค ควบคู่ไปกับการเป็นสมาชิกประชาคมโลกที่มีความรับผิดชอบ มีบทบาทที่สร้างสรรค์ และพร้อมที่จะเผชิญกับความท้าทายทุกรูปแบบอย่างแน่นอน

ทั้งนี้ในการประชุมครั้งนี้ ที่ประชุมได้ร่วมกันรับรองเอกสารผลลัพธ์การประชุม 2 ฉบับ ได้แก่ (1) ร่างปฏิญญาเวียงจันทน์ (Vientiane Declaration) ของการประชุมผู้นำ ACMECS ครั้งที่ 10 และ (2) ร่างเอกสารแนวคิด (Concept Note) เรื่องการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง เป็นภาคผนวกเพิ่มเติมในแผนแม่บทฯ โดยประเทศไทยเป็นผู้เสนอ.-314.-สำนักข่าวไทย

ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

ประหารชีวิตแอมไซยาไนด์

ศาลอาญาพิพากษาประหารชีวิต “แอม ไซยาไนด์”

ศาลอาญาพิพากษาประหารชีวิต “แอม ไซยาไนด์” ส่วนอดีตสามี คุก 1 ปี 4 เดือน “ทนายพัช” คุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา ชดใช้ ให้ผู้เสียหายกว่า 2 ล้านบาท

นายกฯ ถกตั้งนายพลตำรวจ 41 ตำแหน่ง ยันไม่มีการเมืองแทรก

นายกฯ ถกแต่งตั้งนายพลตำรวจ 41 ตำแหน่ง ยันไม่มีการเมืองแทรก ยึดตาม พ.ร.บ.ตำรวจ ฉบับใหม่ พลิกโผ ‘สยาม บุญสม’ ผงาดคุมนครบาล ‘สันติ ชัยนิรามัย’ นั่ง ผบช.ปส. ‘ไตรรงค์ ผิวพรรณ’ โยกคุมไซเบอร์ ‘ภาณุมาศ บุญญลักษม์’ ขึ้นเป็น ผบช.สตม.

ดีเอสไอพบเส้นเงินโอนจากแม่ถึงนักการเมือง ส. เกือบ 100 ล้าน

ดีเอสไอพบเส้นเงินโอนจากแม่ถึงนักการเมือง ส. เกือบ 100 ล้านบาท จำนวนนี้พบโอนจาก “บอสพอล-บอสปีเตอร์” ด้วย เร่งขยายผลมีบอสรายอื่นโอนเข้าบัญชีดังกล่าวอีกหรือไม่

ข่าวแนะนำ

“สนธิ” ยื่นถอด “ตั้ม-เดชา” ออกจากทนาย

“สนธิ ลิ้มทองกุล” หอบหลักฐานบุกสภาทนายความ ถอดทนายตั้ม-ทนายเดชา ออกจากทนาย ระบุ ได้รับมอบอำนาจจาก “มาดามอ้อย” แล้ว เดินหน้าเอาผิด ทนายตั้มแบบสุดซอย ไม่ให้มีคนตกเป็นเหยื่อผู้รู้กฎหมายอีก

นายกฯ โชว์วิสัยทัศน์บนเวที Forbes ดันเศรษฐกิจไทย ส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์

“นายกฯ แพทองธาร” โชว์วิสัยทัศน์บนเวที Forbes Global CEO Conference ครั้งที่ 22 ดันเศรษฐกิจไทย ส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ รับมือความท้าทาย ชูจุดเด่นไทยอยู่ตรงกลางของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีภาคการเกษตรที่เข้มแข็งดึงดูดนักลงทุน บอกกระตุ​้นเศรษฐกิจ​แจกเงินหมื่นเฟส​ 2 พุ่งเป้าเงินสะพัด ลั่น​จุดยืนไทยวางตัวเป็นทูตสันติภาพ พร้อมปรับตัวตามนโยบาย “ทรัมป์”

วางระเบิด 4 ลูก เกาะกลางถนนหน้าโรงเรียน จ.นราธิวาส

เช้ามืดวันนี้ (21 พ.ย.) เกิดระเบิดขึ้นอีก 4 ลูก บริเวณเกาะกลางถนนหน้าโรงเรียนบ้านฮูแตทูวอ ต.โคกเคียน อ.เมือง จ.นราธิวาส เบื้องต้นไม่มีรายงานผู้ได้รับบาดเจ็บ

สำนักสงฆ์หูตาทิพย์

ขุดพบ 12 ศพ ในสำนักสงฆ์ลัทธิประหลาด “สอนหู-ตาทิพย์”

ขุดพบ 12 ศพ ในสำนักสงฆ์ลัทธิประหลาด “สอนหู-ตาทิพย์” พระอ้างใช้สอนวิปัสสนากรรมฐาน เบื้องต้นอายัดไว้พิสูจน์ดีเอ็นเอ พร้อมเอาผิดหัวหน้าสำนักสงฆ์ ฐานนำศพเก็บไว้ในสถานที่ที่ไม่ใช่สุสานและฌาปนสถาน