บนสื่อสังคมออนไลน์แชร์เตือนอันตรายใกล้ตัว เด็กในต่างประเทศหมดสติ หลังกินไข่คนมะเขือเทศดิบ เพราะในมะเขือเทศดิบมีสารพิษ ที่ทำให้อัมพาตและตายได้ ?
🎯 ตรวจสอบข้อเท็จจริงและคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ ผศ.ดร.จุติภรณ์ ทัสสกุลพนิช ภาควิชาพืชสวน คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ในมะเขือเทศดิบมีสารพิษจริง แต่ปริมาณน้อยมาก
สารพิษในมะเขือเทศดิบ คือ โซลานีน (Solanine)
จากข่าวที่แชร์กันบอกว่าเป็นพิษจากโซลานีน คิดว่าไม่จริง
1. ถึงแม้จะเป็น “มะเขือเทศดิบ” แต่มีปริมาณโซลานีนที่น้อยมาก
2. โซลานีนสัมผัสความร้อน 170 องศาเซลเซียสก็สลายหมดตั้งแต่ 20-90 เปอร์เซ็นต์
“โซลานีน” เป็นสารที่พบในพืชวงศ์พริก-มะเขือ หรือวงศ์โซลานาซี (Solanaceae)
เมื่อคนเราได้รับสารโซลานีนเข้าสู่ร่างกายก็จะมีอาการปวดศีรษะ ตัวร้อน คลื่นไส้ อาเจียน ถ้าได้รับปริมาณสูงอาจมีอาการมึนงง อ่อนเพลีย จนกระทั่งหมดสติ
สารโซลานีน พบได้ใน “มันฝรั่งดิบ” ?
ความน่ากังวลของสารโซลานีน คือ ในมันฝรั่งดิบและมันฝรั่งที่กำลังแตกหน่อออกมา
มันฝรั่งแตกหน่อใหม่ เซลล์บริเวณนั้นมีสีเขียว ซึ่งเป็นบริเวณที่มีการสร้างสารโซลานีนสูงมาก สามารถหลีกเลี่ยงโดยการไม่ใช้มันฝรั่งที่กำลังแตกหน่อ ด้วยการเฉือนเนื้อบริเวณที่แตกหน่อทิ้ง เมื่อมันฝรั่งผ่านความร้อนสูงมากกว่า 170 องศาเซลเซียส จะทำให้สารโซลานีนสลายออกไปค่อนข้างมาก
“มะเขือเทศดิบ” มีสารโซลานีนจริง แต่น้อย ?
มะเขือเทศมีสารโซลานีนแต่ปริมาณน้อยมาก ๆ แต่จะพบสารโซลานีนสูงในใบมะเขือเทศมากกว่า รวมถึงมะเขือเทศระยะผลสีเขียวด้วย
ปกติแล้ว การเก็บมะเขือเทศเปลือกสีเขียวจากต้น จะมีกระบวนการสุกมากขึ้นเรื่อย ๆ สารโซลานีนก็จะค่อย ๆ สลายหายไปตามระยะพัฒนาการของผลมะเขือเทศอยู่แล้ว
มะเขือเทศผลสุกที่กินกันทั่วไปไม่มีสารโซลานีนอยู่แล้ว จึงไม่มีความเป็นพิษในมะเขือเทศผลสุก
สำหรับมะเขือเทศดิบ (สีเขียว) ที่บอกว่ามีสารโซลานีนสูง จริง ๆ แล้วปริมาณสารโซลานีนมีน้อยมาก ๆ เลย ยกตัวอย่างเช่น คนเรามีน้ำหนักตัว 50 กิโลกรัม จะต้องกินมะเขือเทศดิบ (สีเขียว) ประมาณ 2 กิโลกรัม ถึงจะอยู่ในขั้นเริ่มเป็นพิษจากสารโซลานีนกับร่างกาย
สำหรับคนที่อ่านข่าวแล้วก็ไม่ต้องกังวลกับสารโซลานีนในมะเขือเทศ สามารถกินมะเขือเทศสุกได้ตามปกติเพราะไม่มีสารโซลานีนอยู่เลย แต่มะเขือเทศดิบ (สีเขียว) เป็นระยะที่เกษตรกรไม่ได้เก็บผลผลิตมาจำหน่าย
ดังนั้น สิ่งที่ควรระวังคือ “มะเขือเทศดิบ” ในแปลงใกล้บ้านมากกว่า เพราะเด็กเล็กอาจจะเดินเข้าไปเก็บมะเขือเทศดิบ (สีเขียว) ที่อยู่บนต้นกินโดยไม่รู้ตัวก็ได้ จึงมีโอกาสได้รับสารโซลานีนถึงแม้จะมีปริมาณน้อยก็ตาม
“โทมาทีน” ในมะเขือเทศ ต้องระวัง ?
ในความเป็นจริงแล้ว สารเด่นในมะเขือเทศไม่ใช่สารโซลานีน แต่เป็นสารโทมาทีน (Tomatine)
ตัวสารโทมาทีนมีความเป็นพิษน้อยกว่าสารโซลานีนมากเลย จนกระทั่งไม่มีรายงานว่าต้องได้รับสารโทมาทีนปริมาณเท่าไหร่ถึงจะเป็นพิษกับร่างกาย แต่มีเพียงรายงานความเป็นพิษในเซลล์ (ระดับหลอดทดลอง) เท่านั้น ว่าสารโทมาทีนสามารถฆ่าเซลล์มะเร็งได้
จากที่แชร์เตือนว่า “กินไข่คนกับมะเขือเทศดิบแล้วได้รับอันตราย” นั้น มีข้อสงสัยหลายประเด็น และจากเนื้อข่าวถึงแม้จะใช้มะเขือเทศดิบซึ่งมีสารโซลานีน (ปริมาณน้อย) อยู่ก็จริง แต่ไข่คนกับมะเขือเทศดิบมีการผ่านความร้อนด้วย
ดังนั้น มะเขือเทศดิบที่มีปริมาณสารโซลานีนน้อยอยู่แล้วและผ่านความร้อนด้วย ปริมาณสารโซลานีนจึงลดน้อยลงไปอีกจนแทบจะไม่มีความเป็นพิษกับร่างกาย แต่เพื่อไม่ให้เกิดความตื่นตระหนกกับสารโซลานีนในมะเขือเทศ เรื่องนี้จึงไม่ควรแชร์ต่อ
สัมภาษณ์โดย พีรพล อนุตรโสตถิ์
เรียบเรียงโดย คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล
ดูเพิ่มเติมรายการ ชัวร์ก่อนแชร์ : กินไข่คนมะเขือเทศดิบ อันตราย จริงหรือ ?
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter