หลอดเลือดขอดคืออะไร เกิดได้จากสาเหตุใด มีวิธีการป้องกันและรักษาอย่างไร ?
🎯 ตรวจสอบข้อเท็จจริงและคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ รศ.นพ.เทิดภูมิ เบญญากร สาขาวิชาศัลยศาสตร์หลอดเลือด ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
หลอดเลือดขอดก็คือหลอดเลือดดำชั้นตื้นเกิดการหดตัว และการคั่งของเลือด ทำให้มองเห็นเหมือนตัวหนอน มักพบบริเวณขาด้านใน
หลอดเลือดขอด เกิดจากสาเหตุอะไร ?
หลอดเลือดขอดเกิดจากความดันในหลอดเลือดดำที่มากขึ้น ขณะยืนหรือเดิน ทำให้เกิดการคั่งของเลือดและหลอดเลือดมีการโป่งพองและขดตัว พบมากในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย
นอกจากนี้ วิถีชีวิตประจำวันของแต่ละคนก็มีความสัมพันธ์กับหลอดเลือดขอด เช่น ทำงานที่ต้องเดินหรือยืนนาน ๆ มากเกินไป ชอบนั่งไขว่ห้าง น้ำหนักตัวเกิน (อ้วนลงพุง) รวมถึงการใส่รองเท้าส้นสูง จึงทำให้พบผู้ป่วยหลอดเลือดขอดที่เป็นผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย
สำหรับอาชีพที่พบว่าเป็นหลอดเลือดขอดมากก็คือ อาชีพที่ต้องยืนหรือเดินเป็นระยะเวลานานต่อวันโดยไม่ได้กำหนดเวลาว่ากี่ชั่วโมง เช่น พยาบาล แต่ถ้ามีการพักขาบ้าง ยกขาบ้าง ก็จะช่วยชะลอการเป็นหลอดเลือดขอดได้ดีขึ้น
“หลอดเลือดขอด” สังเกตได้อย่างไร ?
สามารถสังเกต “หลอดเลือดขอด” ได้จากหลอดเลือดที่ปูดขึ้นบริเวณขา โดยเฉพาะขาด้านใน (บริเวณใต้เข่าลงมา)
มีอาการที่บอกได้ว่าเป็นหลอดเลือดขอดก็คือ ยืนนาน ๆ มีอาการเมื่อยน่องบ่อย ๆ ขาตึงบ่อย ๆ ก็ควรไปพบแพทย์
นอกจากนี้ สามารถสังเกต “หลอดเลือด” ของตัวเองและคนใกล้ตัว ดังนี้
1. หลอดเลือดฝอยขนาดเล็กมีลักษณะเป็นแฉก
2. หลอดเลือดดำเป็นขดขึ้นมา คดเคี้ยว เหมือนตัวหนอน
3. ขาบวม และ/หรือ ปวดเมื่อยน่อง
4. ผิวหนังเปลี่ยนสี (เป็นมากแล้ว) ดำคล้ำขึ้น และมีผิวหนังที่ผิดปกติ
5. มีแผลบริเวณเหนือตาตุ่มด้านใน
การดำเนินโรคของ “หลอดเลือดขอด” จะค่อยเป็นค่อยไป บางรายใช้เวลามากกว่า 10 ปี ถึงจะเกิดความรุนแรง
ผู้ป่วยไม่ควรรอให้เกิดความรุนแรง ถ้าสังเกตเห็นว่าหลอดเลือดขอดมีขนาดใหญ่ขึ้น มีอาการปวดเมื่อยน่อง ขาบวม ร่วมกับผิวหนังเปลี่ยนสี ควรรีบไปพบแพทย์
การรักษา“หลอดเลือดขอด” ทำอย่างไร ?
เส้นทางการรักษาหลอดเลือดขอด มักจะเริ่มด้วยการใส่ถุงน่องความดัน ทำให้มีการกดรัดบริเวณน่องก่อน เพื่อเป็นการรักษาและป้องกัน ร่วมกับการกินยา
ใส่ถุงน่องความดันและกินยาแล้วอาการก็ยังไม่ดีขึ้น แพทย์จะพิจารณาเรื่องการผ่าตัดแก้ไขหลอดเลือดขอด
การผ่าตัดแบบเดิมคือการผ่าตัดแบบเปิดนำหลอดเลือดออกมา แต่ปัจจุบันมีการใช้สายสวน ซึ่งอาจจะใช้ความร้อนหรือกาวมาอุดบริเวณหลอดเลือดขอดที่เสียไป
สำหรับหลอดเลือดที่มีการขดมากแพทย์จะแนะนำให้ผ่าตัดออก แต่กรณีหลอดเลือดฝอยที่ขดมากอาจมีการฉีดยารักษาหรือใช้เลเซอร์ได้
ป้องกัน “หลอดเลือดขอด” อย่างไร ?
แต่ละคนสามารถป้องกัน หรือดูแลตัวเองให้ปลอดภัยจากหลอดเลือดขอด ดังนี้
1. พยายามหลีกเลี่ยงการยืนหรือเดินเป็นเวลานาน
2. การนั่งงอเข่า หรือนั่งไขว่ห้าง ทำให้หลอดเลือดขอดเป็นมากขึ้น
3. สวมถุงน่องแรงดันในคนที่มีอาชีพต้องยืนหรือเดินวันละหลายชั่วโมง ทำร่วมกับการกระดกข้อเท้า
4. กลางคืนควรใช้หมอนหนุนบริเวณข้อเท้าให้สูงเล็กน้อยเพื่อลดอาการบวมและปวดขาได้
5. ถ้ามีน้ำหนักเกิน หรืออยู่ในภาวะอ้วน ควรลดน้ำหนักเพื่อให้ค่าดัชนีมวลกายสมดุล
วัดค่าดัชนีมวลกาย เพื่อการป้องกันอันตรายจาก “ความอ้วน”
ค่าดัชนีมวลกาย (Body Mass Index : BMI) คือตัวชี้วัดมาตรฐานแสดงสภาวะความสมดุลของร่างกาย และทุกคนสามารถวัดค่าดัชนีมวลกายได้ด้วยตนเอง
สูตรคำนวณค่าดัชนีมวลกาย = น้ำหนักตัว (กิโลกรัม) หาร ส่วนสูง (เมตร) ยกกำลังสอง
ยกตัวอย่างเช่น ผู้หญิง น้ำหนัก 65 กิโลกรัม ส่วนสูง 155 เซนติเมตร
ดัชนีมวลกาย = 65 ÷ [1.55 x 1.55] ผลที่ได้คือ 27.05
เกณฑ์การแปลผลค่าดัชนีมวลกาย (BMI)
1. BMI น้อยกว่า 18.5 ต่ำกว่าเกณฑ์
2. BMI = 18.5-22.90 ปกติสมส่วน
3. BMI = 23-24.90 น้ำหนักเกิน
4. BMI = 25-29.90 อ้วนระดับ 1
5. BMI มากกว่า 30 อ้วนระดับ 2
ใครก็ตามที่ค่า BMI เกินกว่า 25 ถือว่าเข้าสู่ภาวะโรคอ้วน (Obesity) ซึ่งเป็นความผิดปกติของร่างกายที่มีปริมาณไขมันสะสมตามอวัยวะต่าง ๆ เกินมาตรฐาน จำเป็นต้องลดน้ำหนัก ควบคุมปริมาณน้ำตาล คาร์โบไฮเดรต และไขมัน เพื่อป้องกันการเกิดโรคเรื้อรัง และโรคแทรกซ้อนตามมา
สัมภาษณ์โดย พีรพล อนุตรโสตถิ์
เรียบเรียงโดย คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล
ดูเพิ่มเติมรายการ ชัวร์ก่อนแชร์ FACTSHEET : สาเหตุและการรักษาโรคหลอดเลือดขอด
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter