กรุงเทพฯ 22 ต.ค. – ธนาคารพาณิชย์เริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ส่งต่อภาวะต้นทุนทางการเงินที่เริ่มผ่อนคลายสู่ตลาดสินเชื่อ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดต้นทุนธุรกิจลดลงปีนี้ 1.3 พันล้านบาท อัตราเติบโตสินเชื่อปีนี้อาจโตไม่เกิน 1.5%
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงานว่า ประมาณ 1 สัปดาห์หลังคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เมื่อวันที่ 16 ต.ค.67 ธนาคารพาณิชย์หลายแห่งทยอยประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลงสูงสุด 0.25% โดยให้มีผลต้นเดือน พ.ย.2567 ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า การทยอยปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์ในครั้งนี้ เป็นหนึ่งในกลไกการส่งผ่านต้นทุนทางการเงินที่ปรับผ่อนคลายลงตามทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาสู่ตลาดสินเชื่อ โดยคาดว่าสัดส่วนสินเชื่อรายย่อยและสินเชื่อธุรกิจที่น่าจะได้รับอานิสงส์จากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ก่อนสิ้นปี 2567 จะอยู่ที่ประมาณ 40.9% ของสินเชื่อรวมทั้งระบบแบงก์ไทย ขณะที่ผลจากการปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ขาเดียวในรอบนี้จะทำให้ภาระดอกเบี้ยของลูกหนี้รายย่อยและภาคธุรกิจปรับลดลงเกือบ 1,300 ล้านบาท (ผลของภาระดอกเบี้ยที่จะปรับลดลงเฉพาะช่วงเดือนพ.ย.-ธ.ค. 2567) อย่างไรก็ดี การปรับลดดอกเบี้ยในครั้งนี้อาจไม่มีผลทำให้ค่างวดผ่อนของลูกหนี้ในแต่ละเดือนเปลี่ยนแปลง แต่ลูกหนี้จะได้รับอานิสงส์ในรูปของการปิดสัญญาหนี้ก้อนนั้นได้เร็วขึ้น
สำหรับภาพรวมทั้งปี 2567 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า อัตราการเติบโตของสินเชื่อของระบบแบงก์ไทยอาจปิดปี 2567 ในระดับไม่เกิน 1.5% เนื่องจากต้นทุนทางการเงินที่เริ่มปรับลดลงมาตามทิศทางดอกเบี้ยนโยบายนั้น เป็นเพียงปัจจัยหนึ่งที่มีผลต่อการเบิกใช้สินเชื่อ ขณะที่ประเมินว่า ทั้งผู้กู้รายย่อยและภาคธุรกิจจะพิจารณาปัจจัยแวดล้อมในด้านอื่นๆ โดยเฉพาะสถานการณ์และแนวโน้มของเศรษฐกิจไทยในภาพรวมในระยะข้างหน้า ที่กระทบแผนการลงทุน การบริโภค รวมถึงความสามารถในการชำระหนี้ในอนาคต ก่อนที่จะเบิกใช้สินเชื่อด้วยเช่นกัน. -511- สำนักข่าวไทย