4 ต.ค. – วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย จัดเสวนา “ความปลอดภัยกรณีเกิดเหตุอัคคีภัยรถโดยสารบนท้องถนน” โดยนายกวิศวกรรมสถานฯ เชื่อ เหตุการณ์ลักษณะนี้จะไม่เกิดขึ้นเป็นครั้งสุดท้ายแน่นอนเพราะการบังคับใช้กฎหมายที่หย่อนยาน
นายวัชรินทร์ กาสลัก นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย กล่าวเปิดงานว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยมีกฎหมายรองรับความปลอดภัยบนท้องถนนมากมายแต่เหตุที่เกิดขึ้นกับรถโดยสารทัศนศึกษาของน้องนักเรียนจาก จ.อุทัยธานี เกิดจากมาตรการบังคับใช้กฎหมายที่หย่อนยานหรือไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายที่สมบูรณ์ได้ หลายคนอยากให้เหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นเป็นครั้งสุดท้ายซึ่งโดยส่วนตัวมองว่า เหตุการณ์แบบนี้จะไม่เกิดขึ้นเป็นครั้งสุดท้ายแน่นอน เพราะเมื่อเกิดเหตุแล้วจะมีการทำงานในลักษณะ “ไฟไหม้ฟาง” ทางการของเราจะเข้มงวดกัน 3 วัน 7 วัน แต่หลังจากนั้นเหตุการณ์ก็จะกลับมาเหมือนเดิม พอมีการรณรงค์ก็จะกลับมาเข้มงวดและพอปล่อยให้เวลาเนิ่นนานไป ก็จะหายไปและกลับมาเหมือนเดิม วนเวียนอยู่อย่างนี้ร่ำไป
นายพิชญะ จันทรานุวัฒน์ นายกสมาคมผู้ตรวจสอบอาคาร กล่าวว่า ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนสูงที่สุดเป็นอันดับ 9 ของโลก โดยพบว่าจะมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนมากถึง 32.7 คนต่อประชากรหนึ่งแสนคน หรือมีผู้เสียชีวิตเฉลี่ยปีละ 22,491 คน หรือเฉลี่ย 60 คนต่อวัน ทำให้ประเทศไทยยังคงเป็นประเทศที่มีผู้เสียชีวิตสูงที่สุดเป็นอันดับ 1 ของภูมิภาคอาเซียน
นายสุรเชษฐ์ สีงาม ที่ปรึกษาสาขาวิศวกรรมป้องกันอัคคีภัย วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ หรือ NGV เกิดจากการนำก๊าซธรรมชาติส่วนใหญ่ที่เป็นก๊าซมีเทน มาอัดจนมีความดันสูงประมาณ 3,000 ปอนด์ต่อตารางนิ้วแล้วนำไปบรรจุในถังที่มีความแข็งแรงทนทาน ดังนั้นการติดตั้งจะต้องอยู่ในที่ปลอดภัยและเหมาะสมและควรอยู่ในการดูแลของวิศวกร ไม่ใช่ให้คนที่จบ ปวช.เป็นคนติดตั้งหรือดูแลการติดตั้ง โดยอายุถังก๊าซยานยนต์ NGV หรือที่ใช้ก๊าซ CNG (เป็นก๊าซตัวเดียวกัน เรียกว่า รถ NGV / ก๊าซ CNG) จะมีอายุใช้งาน 15 ปี เมื่อครบกำหนดหรือหมดอายุแล้ว ไม่สามารถนำกลับมาใช้ได้อีกซึ่งตัวรถโดยสารจะต้องมีการระบุในฉลากให้ชัดเจนว่า รถคันนี้ใช้ก๊าซอะไรเป็นเชื้อเพลิง การใช้รถโดยสารจะต้องมีแผนฉุกเฉิน ต้องมีผู้ช่วยคนขับเพราะเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน ผู้ช่วยคนขับจะเป็นผู้พาอพยพเพราะรู้ตำแหน่งในรถเป็นอย่างดี ทั้งนี้จากการลงพื้นที่ตรวจสอบจุดเกิดเหตุของวิศกรรมสถานแห่งประเทศไทย มีข้อสังเกตว่า รถคันที่เกิดเหตุวิ่งจำกัดความเร็วที่ 80-90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ทำไมจึงพบรอยขูดตามท้องถนนก่อนเกิดเหตุ ดังนั้นใต้พื้นรถจะต้องมีอะไรไปขูดซึ่งอาจจะเป็นโลหะก่อนที่จะไปชนกับแบริเออร์ นอกจากนี้ยังพบว่ารถคันเกิดเหตุโช้คด้านซ้ายหายไป 1 ตัว ส่วนโช้คด้านขวาอีก 1 ตัว ถูกเสียดสีจนอยู่ในสภาพที่ไม่สมบูรณ์และพบรอยไหม้ของถุงลมนิรภัย ทั้งนี้ยังพบว่า ถังก๊าซลูกที่ 7 และ 8 หมดอายุ ส่วนถังก๊าซลูกที่ 9 และ 10 อยู่ใต้คนขับซึ่งในต่างประเทศที่พัฒนาแล้ว ถ้ามีการใช้รถ NGV ถังก๊าซจะอยู่บนหลังคาแต่บ้านเราถังก๊าซจะอยู่ภายในตัวรถซึ่งเหมือนกับการซ่อนระเบิดเอาไว้.-513-สำนักข่าวไทย