fbpx

ระดมช่วยปศุสัตว์และสัตว์เลี้ยงในพื้นที่ประสบอุทกภัย

กรุงเทพฯ 15 ก.ย. – อธิบดีกรมปศุสัตว์ เผยระดมสรรพกำลังช่วยเหลือเกษตรกร ปศุสัตว์ และสัตว์เลี้ยงของประชาชนในพื้นที่ประสบอุทกภัยในภาคเหนือ ล่าสุดเข้าช่วยเหลือใน จ.หนองคาย และนครพนม ซึ่งเกิดฝนตกหนักและน้ำจากแม่น้ำโขงล้นตลิ่ง ย้ำให้สำนักงานปศุสัตว์ทั่วประเทศเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ตามที่กรมอุตุฯ คาดการณ์ว่าจะมีฝนตกชุกช่วงปลายฤดู โดยดำเนินการตามแผนเผชิญเหตุ หลังภัยพิบัติคลี่คลายให้เร่งสำรวจความเสียหาย พร้อมยกระดับการเฝ้าระวังโรคระบาดสัตว์ที่อาจเกิดขึ้นได้ เพื่อลดความสูญเสียด้านปศุสัตว์


นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า ได้รับข้อสั่งการของนางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงปศุสัตว์ ปศุสัตว์ รวมถึงสัตว์เลี้ยงของประชาชนในพื้นที่ประสบอุทกภัยภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

สำหรับจังหวัดในภาคเหนือที่ได้รับผลกระทบจากอิทธิพลของพายุยางิ มี 3 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ และแม่ฮ่องสอน ประกอบด้วย 5 อำเภอ 14 ตำบล 44 หมู่บ้าน เกษตรกร 998 ราย มีสัตว์ในพื้นที่น้ำท่วม 69,703 ตัว แบ่งเป็น โค 2,951 ตัว กระบือ 1,362 ตัว สุกร 8,514 ตัว แพะ/แกะ 25 ตัว และสัตว์ปีก 56,851 ตัว แปลงหญ้าเลี้ยงสัตว์ 145 ไร่ สำนักงานปศุสัตว์ในพื้นที่ช่วยเหลือเฉพาะหน้าดังนี้ มอบพืชอาหารสัตว์ 8,770 กิโลกรัม ช่วยอพยพสัตว์ 318 ตัว และสนับสนุนชุดส่งเสริมสุขภาพสัตว์ 50 ชุด ส่วนรายงานสัตว์ตาย/สูญหายทั้ง 3 จังหวัด รวม 5,898 ตัว แบ่งเป็น โค 28 ตัว กระบือ 2 ตัว สุกร 1 ตัว และสัตว์ปีก 5,867 ตัว ส่วนที่จังหวัดเชียงราย ซึ่งน้ำท่วมเป็นวงกลางและระดับน้ำสูง สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดเชียงราย จัดตั้งสถานที่พักพิงสัตว์ชั่วคราวที่สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดเชียงราย และศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์เชียงราย เพื่อให้เป็นสถานที่ที่ประชาชนขนย้ายสัตว์เลี้ยงมาพักพิง โดยมีสัตว์แพทย์และเจ้าหน้าที่ช่วยดูแลสุขภาพให้ด้วย


ล่าสุดเกิดอุทกภัยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือแล้ว 2 จังหวัด ได้แก่ หนองคายและนครพนม เนื่องจากเกิดฝนตกหนัก ประกอบกับระดับน้ำแม่น้ำโขงสูงขึ้นจนล้นตลิ่ง สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดหนองคาย รายงานว่า เกิดผลกระทบ 4 อำเภอ 10 ตำบล 68 หมู่บ้าน เกษตรกรได้รับผลกระทบ 849 ราย สัตว์ที่ได้รับผลกระทบ 7,322 ตัว แบ่งเป็น โค 4,561 ตัว กระบือ 715 ตัว แพะ 80 ตัว และสัตว์ปีก 1,966 ตัว การช่วยเหลือเฉพาะหน้า ได้แก่ ช่วยอพยพสัตว์ 946 ตัว มอบพืชอาหารสัตว์ 8,850 กิโลกรัม มอบชุดดูแลสุขภาพสัตว์ 18 ชุด รักษาสัตว์ 55 ตัว และมอบถุงยังชีพ 15 ถุง ส่วนสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดนครพนม รายงานว่า เกิดผลกระทบใน 2 อำเภอ 5 ตำบล 11 หมู่บ้าน เกษตรกรได้รับผลกระทบ 116 ราย สัตว์ที่ได้รับผลกระทบ 972 ตัว แบ่งเป็น โค 344 ตัว และกระบือ 628 ตัว โดยช่วยเหลือเฉพาะหน้าด้วยการมอบพืชอาหารสัตว์ 6,000 กิโลกรัม ขณะที่จังหวัดอื่นๆ ที่มีพื้นที่ติดริมลำน้ำโขง กรมปศุสัตว์ได้เน้นย้ำให้เฝ้าระวังและเตรียมพร้อมช่วยเหลือ หากเกิดสถานการณ์

นายสัตวแพทย์สมชวน กล่าวว่า กรมปศุสัตว์มีแผนป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติที่วางไว้ล่วงหน้า เพื่อให้สามารถป้องกันและบรรเทาสถานการณ์ในระยะเฉพาะหน้า โดยคณะกรรมการศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านปศุสัตว์ ได้ประชุมซักซ้อมแผนแก้ไขปัญหาภัยพิบัติในระดับเขต และเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ เช่น สำรวจพื้นที่เสี่ยง เตรียมสถานที่พักพิงอพยพสัตว์ในพื้นที่สูงสู่ที่ปลอดภัย จัดเตรียมบุคลากรชุดปฏิบัติการช่วยเหลือ จัดทีมสัตวแพทย์ 173 ทีม

กรมปศุสัตว์ ยังเตรียมเสบียงอาหารสัตว์หญ้าพระราชทานจากศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์ 32 แห่งที่มีอยู่ทั่วทุกภูมิภาค 5,351,300 กิโลกรัม หรือเป็นจำนวน 267,565 ก้อน ที่สามารถเลี้ยงโค กระบือได้ 114,673 ตัว ต่อเนื่องได้ 7 วัน ถุงยังชีพ 3,500 ชุด ซึ่งประกอบด้วย อาหารสุนัข/แมว อาหารสัตว์ปีก แร่ธาตุก้อน ยาปฏิชีวนะ วิตามินละลายน้ำ และยาถ่ายพยาธิ เตรียมชุดเวชภัณฑ์ในพื้นที่ทั้ง 9 เขต พร้อมใช้ในการดูแลสุขภาพสัตว์ รักษาสัตว์ป่วยได้อย่างทันท่วงทีที่เกิดเหตุการณ์ขึ้น รวมถึงจัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์ช่วยเหลือและยานพาหนะ 119 คัน


นายสัตวแพทย์สมชวน กล่าวย้ำว่า ในช่วงปลายฤดูฝน ซึ่งกรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า ประเทศไทยจะมีฝนกระจายเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่งทั่วทุกภูมิภาค จึงสั่งให้ทุกพื้นที่เตรียมพร้อมรับภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้นได้ โดยให้ติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด และให้ดำเนินการตามแผนที่วางไว้อย่างทันท่วงทีที่เกิดเหตุการณ์

นอกจากนี้ ยังกำชับให้ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้แก่เกษตรกรในทุกพื้นที่ได้ขึ้นทะเบียนเกษตรกรเลี้ยงสัตว์ หรือปรับปรุงข้อมูลทะเบียนเกษตรกรให้เป็นปัจจุบัน เพื่อได้รับการช่วยเหลือเยียวยา หากสัตว์เลี้ยงได้รับความเสียหาย ตลอดจนประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรได้รับทราบข่าวสารจากทางราชการด้วย ที่สำคัญอีกประการคือ การเฝ้าระวังโรคระบาดสัตว์ เพื่อลดการสูญเสียด้านปศุสัตว์

นายสัตวแพทย์สมชวน กล่าวเพิ่มเติมว่า ได้เน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่บูรณาการกับหน่วยงานในพื้นที่ท้องที่ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรในช่วงที่เกิดภัย หลังเกิดภัยให้แต่ละพื้นที่ที่เกิดผลกระทบเร่งสำรวจความเสียหาย ตลอดจนช่วยฟื้นฟูสุขภาพสัตว์และฟื้นฟูอาชีพของเกษตรกร รวมถึงเร่งช่วยเหลือเยียวยาให้เป็นไปตามระเบียบกระทรวงการคลังต่อไป

หากเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ประสบอุทกภัยและต้องการความช่วยเหลือจากกรมปศุสัตว์ สามารถติดต่อศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านปศุสัตว์ กองส่งเสริมและพัฒนาการปศุสัตว์ กรมปศุสัตว์ โทร. 02-6534444 ต่อ 3315 E-mail : disaster@did.go.th.-512-สำนักข่าวไทย

ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

นายกตรวจน้ำท่วมเชียงราย

นายกฯ บินเชียงราย ติดตามสถานการณ์น้ำท่วม

“นายกฯ แพทองธาร” ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำท่วม เตรียมมอบถุงยังชีพแก่ผู้ประสบภัยในพื้นที่ จ.เชียงราย พร้อมตรวจเยี่ยมการลำเลียงสิ่งของช่วยเหลือของกองทัพ

ชิงทองระนอง68บาท

รวบแล้วโจรชิงทอง 68 บาท กลางห้างดังระนอง

รวบแล้ว 2 คนร้ายชายหญิง จี้ชิงทอง 68 บาท ในห้างดังกลางเมืองระนอง ฝ่ายชายรับสารภาพ ชีวิตตกต่ำ ไม่มีรายได้ จึงชวนหลานสาววัย 16 ปี มาร่วมก่อเหตุชิงทอง

น้องชายรัวยิงพี่สาวตายกลางงานศพแม่ อ้างฉุนไม่ให้ร่วมจัดงานศพ

น้องชายชักปืนรัวยิงพี่สาวเสียชีวิตกลางงานศพแม่ ภายหลังน้องชายเข้ามอบตัวกับตำรวจ อ้างเหตุผลฆ่าเพราะโมโห รู้สึกว่าพี่สาวใจดำมากที่กีดกันไม่ให้ตนช่วยจัดงานศพแม่

บุกทลายโรงงานผลิตยาเถื่อน ย่านทุ่งครุ

เจ้าหน้าที่ อย. ร่วมสืบนครบาล บุกทลายโรงงานผลิตยาเถื่อน ย่านทุ่งครุ มีเบาะแสต้นตอการทะลักของยาเขียวเหลือง ตะลึงพบซากจิ้งจกตายในหม้อต้ม ขณะที่เจ้าของโรงงานยันประกอบอาชีพโดยสุจริต

ข่าวแนะนำ

ชายแดนแม่สายยังเละจมโคลน จับตาพายุลูกใหม่

แม้จะผ่านน้ำท่วมใหญ่ในรอบร้อยปีมาหลายวันแล้ว แต่ตอนนี้ชายแดนแม่สายยังเต็มไปด้วยความเสียหายและดินโคลนจำนวนมาก ชาวบ้านหลายคนยังไม่สมารถกลับเข้าบ้านได้

นายกฯ ตรวจความพร้อมการจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค

นายกฯ ตรวจความพร้อมการจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค การซ้อมเป็นรูปขบวนเรือในแม่น้ำเจ้าพระยา ครั้งที่ 7 ณ โรงเรือพระราชพิธี ท่าวาสุกรี และวัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร ขณะที่ “เจ้าอาวาสวัดอรุณฯ” ให้กำลังใจทำหน้าที่ได้เต็มที่-ประสบความสำเร็จ

พายุโซนร้อน “ซูลิก” ทำฝนตกหนัก 76 จังหวัด 19-23 ก.ย.

พายุดีเปรสชันบริเวณชายฝั่งประเทศเวียดนามตอนบนทวีกำลังขึ้นเป็นพายุโซนร้อน “ซูลิก” แล้ว คาดขึ้นฝั่งเวียดนามคืนนี้ หัวพายุส่งผลให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออกมีฝนแล้ว ช่วงระหว่างวันที่ 19-23 ก.ย.67 มีพื้นที่เสี่ยงฝนตกหนักถึงหนักมาก 76 จังหวัด