กรุงเทพ 28 ส.ค. – กสทช.ผนึกกำลังกับสมาคมทีวีดิจิทัลและทีวีสาธารณะทุกช่อง จัดงาน “1 ทศวรรษทีวีดิจิทัล” Beyond the Next Step เสวนาระดมสมองอนาคตทีวีดิจิทัลในฐานะ “โทรทัศน์แห่งชาติ” ก่อนและหลังสิ้นสุดในอนุญาตปี 2572 โดยประธาน กสทช.ระบุว่า หากจะไม่มีการประมูลทีวีดิจิทัลในอีก 4 ปีข้างหน้าจะต้องมีการแก้กฎหมายการจัดสรรคลื่นความถี่และต้องขึ้นอยู่กับรัฐบาลด้วยว่าจะให้มีการแก้กฎหมายหรือไม่
นายสุภาพ คลี่ขจาย นายกสมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า ทีวีดิจิทัลภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้ออกอากาศในระบบดิจิทัลภาคพื้นดินมาเป็นระยะเวลา 10 ปี ในปีนี้ ทางสมาคมฯ, ผู้บริหารสถานีโทรทัศน์ดิจิทัลภาคธุรกิจและผู้บริหารสถานีโทรทัศน์ดิจิทัลภาคสาธารณะทุกช่องโดยการสนับสนุนจาก กสทช. มีความเห็นร่วมกันในการจัดงาน ”1ทศวรรษทีวีดิจิทัล” ภายใต้แนวคิด Beyond the Next Step ในวันนี้ ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุม ไบเทค โดยกิจกรรมและงานเสวนา “1 ทศวรรษทีวีดิจิทัล” เกิดขึ้นจากการรวมตัวกันครั้งแรกในประวัติศาสตร์วงการโทรทัศน์ไทย ระหว่างสมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ประเทศไทย), กสทช. รวมพลังช่องสมาชิกทีวีดิจิทัลประเภทธุรกิจทั้ง 15 ช่อง และทีวีดิจิทัลสาธารณะ 5 ช่อง รวมทั้งบุคลากรคนสำคัญที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจทีวี ทั้งผู้บริหารสถานีและผู้ผลิตรายการมารวมตัวกันครั้งใหญ่ โดยวางเป้าหมายให้งาน “1 ทศวรรษทีวีดิจิทัล” ภายใต้แนวคิด “Beyond the next step” แสดงศักยภาพในปัจจุบันและอนาคตของการเป็น “โทรทัศน์แห่งชาติ” สื่อหลักที่เข้าถึงคนไทยแบบไม่มีค่าใช้จ่ายอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมซึ่งมีบทบาทต่อความเป็นไปในสังคม และเป็นแพลตฟอร์มหลักของคอนเทนท์ที่เป็น Soft Power อย่างแท้จริง วัตถุประสงค์หลัก เพื่อเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจในบทบาทและภารกิจของ กสทช. กับทีวีดิจิทัล 20 ช่อง ในระยะเวลาที่ผ่านมา 10 ปี และการมองทิศทางอนาคตในระยะต่อไปอีกประมาณ 5 ปี ก่อนและหลังใบอนุญาตทีวีดิจิทัลภาคเอกชนจะสิ้นสุดในปลายเดือนเมษายน ปี 2572 เป้าหมายเพื่อให้สังคมไทย ได้ตระหนักรู้ถึงบทบาทและภารกิจของทีวีดิจิทัล ที่ยังคงทำหน้าที่สื่อสารมวลชนหลักของประเทศ ท่ามกลางการเปลี่ยนผ่านของเทคโนโลยีสารสนเทศที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของทีวีดิจิทัลอย่างมากในหลายด้าน ในขณะที่พฤติกรรมของผู้ชมเปลี่ยนไป มีทางเลือกในการรับข่าวสารและความบันเทิงมากขึ้นทางโซเชียลมีเดีย แต่ผู้ประกอบการและผู้ปฏิบัติงานของทีวีดิจิทัลภาคพื้นดิน 20 ช่อง ยังคงยืนหยัดภารกิจการทำหน้าที่ “โทรทัศน์แห่งชาติ” ในฐานะสื่อหลักของประเทศ ที่สังคมยังให้ความไว้วางใจได้อย่างต่อเนื่องบนความรับผิดชอบสูงสุดต่อสังคม”
ศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช., นายสุภาพ คลี่ขจาย นายกสมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ประเทศไทย) และนายถกลเกียรติ วีรวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บมจ.เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ ได้เสวนาพิเศษหลังจากครบ 10 ปี ทีวีดิจิทัล กับก้าวต่อไปของอุตสาหกรรมโทรทัศน์ในประเทศไทย “โทรทัศน์แห่งชาติ”
นายสุภาพ กล่าวว่า เหลือเวลาอีก 4 ปี ใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ดิจิทัลจะหมดลง คำถามคือเราจะเอาอย่างไรกันเพราะเป็นปัญหาเฉพาะหน้า ควรมีคำตอบว่าเมื่อใบอนุญาตหมดวาระ เราจะทำอย่างไรซึ่งตนเองมองว่า ไม่น่าจะมีการประมูลกันอีกแล้วเพราะในประเทศที่ทันสมัยไม่มีการประมูลแต่จะคัดเลือกสถานีโทรทัศน์ที่มีความพร้อมมากกว่าให้ได้สิทธิ์เป็นผู้ประกอบการทีวี สำหรับการประมูลโทรทัศน์ดิจิทัลเมื่อครั้งที่แล้ว คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประเมินว่าจะมีตัวเลขประมูลประมาณ 10,000 ล้านบาท แต่เมื่อมีการประมูลจริง กสทช.ได้รับเงินจากการประมูลของผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์ไปถึง 50,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม หากไม่มีการประมูลจะเป็นอย่างไร จะต้องมีการแก้กฎหมายการจัดสรรคลื่นความถี่ที่ระบุว่าจะต้องมีการประมูล ซึ่งการแก้กฎหมายจะต้องใช้เวลานานหลายปี
ทางด้านศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ กล่าวว่า ในปี 2572 ที่ทีวีดิจิทัลหมดสัญญาสัมปทาน ขณะนี้ยังตอบไม่ได้ว่าจะมีการประมูลทีวีดิจิทัลอีกหรือไม่ เพราะเทคโนโลยีมันเปลี่ยนไปทุกปี ดังนั้นทาง กสทช.กับผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลจะต้องมีการพูดคุยหารือกันทุกปี แต่หากจะไม่ประมูล ก็จะต้องมีการแก้กฎหมายการจัดสรรคลื่นความถี่ ซึ่งรัฐบาลจะต้องเห็นด้วย ต้องดูว่ารัฐบาลจะเอาอย่างไรกับเรื่องนี้ด้วย แต่เบื้องต้นหากต้องมีการประมูล คือ ผู้ประกอบการรายเดิมจะได้รับโอกาสการต่อใบอนุญาตเหมือนเดิมตามปกติ
ขณะที่นายถกลเกียรติ กล่าวว่า ทุกวันนี้คนดูทีวีน้อยลงแต่ไม่ได้หมายความว่า ผู้คนจะดูคอนเทนต์หรือข่าวสารน้อยลง ซึ่งคอนเทนต์และข่าวสาร จะต้องเป็นสิ่งที่ตรวจสอบได้ โดยส่วนตัวเห็นว่าทีวีดิจิทัลจะต้องดำรงอยู่ต่อไปเพราะมีความสำคัญกับประเทศ เราจะต้องเดินไปด้วยกันกับ กสทช.-513-สำนักข่าวไทย