22 สิงหาคม 2567
แปลและเรียบเรียงบทความ : อดิศร สุขสมอรรถ
ตรวจทานและพิสูจน์อักษร : คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล
ข้อมูลที่ถูกแชร์ :
มีข้อมูลบิดเบือนเผยแพร่ทางสื่อสังคมออนไลน์ในต่างประเทศ โดยอ้างว่าคุณภาพน้ำของแม่น้ำแซนซึ่งใช้เป็นสถานที่แข่งขันไตรกีฬาในกีฬาโอลิมปิกที่กรุงปาริส มีสภาพที่ย่ำแย่อย่างหนัก จนนักไตรกีฬาล้มป่วยและอาเจียนถึง 10 รอบหลังขึ้นจากน้ำ
บทสรุป :
- นักไตรกีฬาที่อาเจียน 10 รอบหลังขึ้นจากแม่น้ำแซน เปิดใจว่าป่วยเพราะอากาศร้อนและดื่มน้ำมากเกินไประหว่างวิ่ง
- มีนักนักไตรกีฬาป่วยหลังว่ายในแม่น้ำแซนหลายราย แต่ยังไม่มีการยืนยันว่าอาการป่วยเป็นเพราะคุณภาพของแม่น้ำหรือไม่
FACT CHECK : ตรวจสอบข้อเท็จจริง :
ประเด็นคุณภาพน้ำของแม่น้ำแซนได้รับการจับตาอย่างสูง เนื่องจากใช้เป็นสถานที่พาเหรดของนักกีฬาในพิธีเปิดการแข่งขัน และสนามแข่งขันว่ายน้ำมาราธอนและไตรกีฬา
แม่น้ำแซนเคยใช้เป็นสถานที่แข่งขันว่ายน้ำโอลิมปิกครั้งที่กรุงปารีสเคยเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกครั้งที่ 2 เมื่อปี 1900 แต่ปัญหาปริมาณแบคทีเรีย E. coli เกินมาตรฐาน ทำให้มีคำสั่งห้ามการว่ายน้ำในแม่น้ำแซนนับตั้งแต่ปี 1923 เป็นต้นมา
แม้ฝรั่งเศสจะทุ่มงบประมาณกว่า 1 หมื่น 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อปรับปรุงคุณภาพแม่น้ำแซน แต่จนกระทั่งถึงงานแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ปริมาณเชื้อแบคทีเรียในแม่น้ำก็ยังสูงกว่ามาตรฐาน สาเหตุจากฝนตกหนักช่วงก่อนการแข่งขันส่งผลให้คุณภาพกลับไปย่ำแย่อีกครั้ง
ทางผู้จัดยังคงยืนยันจะใช้แม่น้ำแซนจัดการแข่งขันต่อไป จึงได้ปรับเปลี่ยนตารางการแข่งขัน ด้วยการยกเลิกการซ้อมว่ายของนักไตรกีฬาในแม่น้ำแซน และเลื่อนให้การแข่งขันไตรกีฬาประเภทชายและหญิงมาจัดในวันที่ 31 กรกฎาคมพร้อมกัน ซึ่งเป็นวันที่ได้รับการยืนยันจากองค์การไตรกีฬาโลก (World Triathlon) ว่าคุณภาพน้ำในแม่น้ำแซนผ่านมาตรฐาน
หลังการแข่งขัน มีรายงานนักไตรกีฬาของประเทศเบลเยียมและสวิตเซอร์แลนด์ล้มป่วยและถอนตัวจากการแข่งขันไตรกีฬาแบบทีมผสม แต่ไม่มีรายงานยืนยันว่าอาการป่วยมีความเกี่ยวข้องกับคุณภาพน้ำของแม่น้ำแซนหรือไม่
บนโลกออนไลน์มีการแชร์ภาพของ ไทเลอร์ มิสลาฟชัค นักไตรกีฬาชาวแคนาดา กำลังอาเจียนอย่างรุนแรงระหว่างการแข่งขันไตรกีฬาในโอลิมปิก จนมีการเชื่อมโยงว่ามีความเกี่ยวข้องกับคุณภาพของแม่น้ำแซน
แต่การใช้สัมภาษณ์ของ ไทเลอร์ มิสลาฟชัค ต่อสำนักข่าว CBC ของประเทศแคนาดา ยืนยันว่าสาเหตุที่เขาอาเจียนเกือบ 10 ครั้งหลังการแข่งไตรกีฬาสิ้นสุดลง มีสาเหตุเพราะเขาดื่มน้ำในช่วงการวิ่ง 10 กิโลเมตรสุดท้ายมากเกินไป ประกอบกับอากาศที่ร้อนของกรุงปารีส ส่งผลให้เขาสำรอกเอาน้ำส่วนเกินออกมา
มีข้อมูลยืนยันว่า การอาเจียนระหว่างหรือหลังการแข่งขันวิ่งมาราธอนหรือไตรกีฬาเป็นเรื่องที่พบได้ปกติ
โดยเมื่อ 3 ปีที่แล้วที่กรุงโตเกียวเป็นเจ้าภาพโอลิมปิก มีการจัดการแข่งขันไตรกีฬาที่อ่าวโตเกียวและมีข่าวนักกีฬาอาเจียนหลังการว่ายน้ำ นำไปสู่การแพร่ข่าวลือเรื่องคุณภาพน้ำที่ไม่ได้มาตรฐานในอ่าวโตเกียว แต่ภายหลังมีการยืนยันว่า การอาเจียนของนักกีฬาเป็นผลมาจากความร้อนของอากาศในกรุงโตเกียวเช่นกัน
ข้อมูลอ้างอิง :
https://tfc-taiwan.org.tw/articles/10870
https://leadstories.com/hoax-alert/2024/08/fact-check-video-does-not-show-olympic-athlete-vomiting-because-he-swam-in-seine.html
https://en.wikipedia.org/wiki/Concerns_and_controversies_at_the_2024_Summer_Olympics
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter