รัฐสภา 21 ส.ค. – “รังสิมันต์ โรม” โต้ หลัง “อุดม สิทธิวิรัชธรรม” ออกมาทวงบุญคุณพรรคประชาชน ยุบแล้วรวย 20 ล้านบาท บอกไม่มีสังคมไหนยอมรับเรื่องยุบพรรค ตั้งคำถามสรุปคดีพรรคก้าวไกล วินิจฉัยด้วยความเป็นกลางหรือตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเป็นศัตรู
นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน กล่าวถึงกรณีนายอุดม สิทธิวิรัชธรรม ทวงบุญคุณ “พรรคประชาชน” หากพรรคก้าวไกลไม่ถูกยุบก็จะไม่รวย 20 ล้านบาท ว่างานยุบพรรคการเมืองใน พ.ศ.นี้ ไม่มีสังคมไหนยอมรับ โดยเฉพาะสังคมที่เจริญแล้ว ตนคิดว่าพวกเราที่เป็นนักการเมือง เวลาไปพูดคุยกับพรรคการเมืองต่างประเทศที่เป็นต้นแบบประชาธิปไตยหรืออยู่ระหว่างการพัฒนาประชาธิปไตย ซึ่งทุกคนล้วนแปลกใจที่การยุบพรรค โดยเฉพาะพรรคก้าวไกล เกิดขึ้น และไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นครั้งแรก ไม่มีใครยอมรับและเข้าใจได้ โดยเฉพาะประเด็นที่นำไปสู่การยุบพรรค ว่าจะเป็นเรื่องนโยบายของพรรคก้าวไกล การเสนอเข้าชื่อกฎหมาย ล้วนเป็นสิ่งที่น่าจะทำได้ ดังนั้น การยุบพรรคแบบนี้ไม่เป็นสิ่งที่ยอมรับ และเมื่อพรรคถูกอยู่แล้ว ประชาชนที่เข้ามาสมัครสมาชิกพรรคเขาเห็นใจ หลายคนจึงบริจาคเงินมา เป็นการดำเนินการโดยภาคประชาชนที่เขารู้สึกว่าพรรคการเมืองนี้เขาเป็นเจ้าของ และเขาอยากจะผลักดันให้พรรคนี้กลับมาทำงานในสภาฯ อย่างเต็มภาคภูมิได้เร็วที่สุด ซึ่งแน่นอนถ้าเทียบกับความเสียหายของการยุบพรรค มันมากกว่าเยอะ แต่ประชาชนเขาก็ทำในสิ่งที่เขาพอจะทำได้ ในการสนับสนุนพวกเรา
“มันไม่ใช่เรื่องตลก ไม่ใช่เรื่องที่สามารถเอามาพูดเล่นกันได้ ว่าการยุบพรรคทำให้พรรคประชาชนมีรายได้ 20 ล้านบาท การยุบพรรคก้าวไกลทำให้นักการเมืองที่มีคุณภาพ ควรจะเป็นอนาคตของประเทศ ถูกตัดสิทธิทางการเมือง การยุบพรรคทำให้เพื่อน สส.ในบัญชีรายชื่อ ไม่มีสิทธิอีกต่อไป ทำให้เราต้องแสวงหาสมาชิกกันใหม่ ทำให้ประชาชนที่เป็นสมาชิกของเราถูกทำลาย ความเสียหายที่เกิดขึ้นมันไม่ใช่ความเสียหายของพรรคก้าวไกลเท่านั้น แต่เป็นความเสียหายของประชาชนที่เขาอยากจะเห็นการเมืองที่ต่อสู้กันด้วยนโยบาย ต่อสู้กันทางความคิด การใช้กฎหมายในการยุบพรรคควรจะเป็นสิ่งที่หมดไปได้แล้ว น่าเสียดายที่ยังเป็นแบบนั้นอยู่ ตนเองค่อนข้างตกใจ กับความคิด ตนอ่านดูแล้วรู้สึกว่าคนที่สั่งการให้มีการยุบพรรคแบบนี้ไม่ได้รู้สึกว่ามันเป็นสิ่งไม่ควรทำ” นายรังสิมันต์ กล่าว
เมื่อถามถึงวุฒิภาวะของคนพูด นายรังสิมันต์ กล่าวว่า ตนเข้าใจนายอุดม จบนิติศาสตร์ และมีความเข้าใจทางด้านกฎหมาย แต่ปกติคนที่เป็นศาลควรตัดสินคดีโดยตั้งอยู่บนพื้นฐานที่เป็นกลาง ไม่ใช่เอาตัวเองเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของคดี หากเรามองด้วยท่าทีเช่นนี้จะทำให้เกิดคำถามว่าการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญตั้งอยู่บนความเป็นกลางจริงหรือไม่ ตั้งอยู่บนพื้นฐานพยานหลักฐานหรือไม่ ตั้งอยู่บนพื้นฐานที่ทำให้พรรคก้าวไกลได้โอกาสในการต่อสู้คดีอย่างเต็มที่หรือไม่ หรือสุดท้ายการตัดสินคดีนี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเป็นศัตรูของพรรคก้าวไกล หรือของความเชื่อบางอย่างไปแล้ว ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น ตนคิดว่ากฎหมายของเราจะมีปัญหามาก และจะทำลายความศรัทธาของพี่น้องประชาชนมากขึ้นไปอีก
ส่วนผลกระทบที่เกิดขึ้นในวันนี้จะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างไรบ้าง นายรังสิมันต์ กล่าวว่า คงจะเกิดคำถามจากพี่น้องประชาชนจำนวนมากว่าตกลงแล้วการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญเป็นอย่างไร และคำถามในลักษณะแบบนี้ทำให้วงการกฎหมายกลัวกันมาก เพราะตัดสินกันไม่จบ เนื่องจากตัดสินแล้วไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นได้ และเชื่อว่าตอนนี้สังคมกำลังมีคำถามนี้ ซึ่งจะนำไปสู่ความไม่เชื่อมั่นในทางการเมือง และทำให้การเมืองขาดเสถียรภาพ เหมือนประเทศที่ไร้วิญญาณ การขับเคลื่อนเศรษฐกิจ การพัฒนาประเทศให้มีความเติบโต คงแทบเป็นไปไม่ได้ เพราะนักลงทุนที่ไหนจะอยากมาลงทุน เพราะฉะนั้นคนที่เกี่ยวข้องกับการทำลายเสถียรภาพทางการเมือง ควรเป็นคนที่ต้องรับผิดชอบกับความเสียหายใดๆ ที่เกิดขึ้น
เมื่อถามถึงกรณีมีนิสิต นักศึกษา ของบางสถาบัน เรียกร้องให้ถอดถอนชื่อตุลาการศาลรัฐธรรมนูญบางคนออกจากการเป็นอาจารย์พิเศษ นายรังสิมันต์ มองว่าเรื่องการตัดสินของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เกี่ยวพันกับเรื่องการเมือง ไม่ใช่แค่เรื่องทางกฎหมาย ไม่เหมือนกับศาลอื่นๆ ต้องยอมรับว่าเรื่องในลักษณะนี้หรือเรื่องจริยธรรม เป็นสิ่งที่มีทั้งคนเห็นด้วย แล้วคนไม่เห็นด้วย และแน่นอนว่าประชาชนจำนวนมากมองว่าพรรคก้าวไกลไม่ควรจะถูกยุบ เพราะการเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มีการแก้ไขมาก่อน และไม่มีอะไรที่เขียนว่าห้ามแก้ ซึ่งเมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้ทำให้เกิดคำถามตามมา ยิ่งไปกว่านั้นการตัดสิน 9:0 ทำให้เกิดคำถามเรื่องความโปร่งใสในการตัดสิน เพราะหากเทียบกับการตัดสินอื่นๆ ยากมากที่จะหาฉันทามติแบบนี้ คงมีประชาชนส่วนหนึ่งที่รู้สึกว่าอยากจะทำอะไรที่สามารถทำได้ และเป็นภาพสะท้อนจากนิสิตนักศึกษาที่ไปเข้าชื่อถอดถอน
ส่วนกรณีที่ตุลาการระบุว่าพรรคควรขอบคุณ นายรังสิมันต์หัวเราะ ก่อนจะกล่าวว่า เราคงขอบคุณไม่ได้ เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ควรพูดคุยกันแบบจริงจังดีกว่า การใช้ประโยคแบบเยาะเย้ยถากถาง เป็นการพูดที่ไม่ได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการเคารพในอำนาจของประชาชนเลย และตนคิดว่าเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายในสังคมต้องให้ความสำคัญ ไม่ว่าคุณจะเป็นองค์กรอะไรก็แล้วแต่ หรือจะมีที่มาอย่างไรตามรัฐธรรมนูญ แต่ตนอยากให้ทุกคนเคารพในอำนาจสูงสุดที่เป็นของประชาชน
“อย่างน้อยมีความเคารพกันบ้าง ตนเข้าใจเกมการเมือง ตนเข้าใจเรื่องความพยายามที่จะทำลายพรรคก้าวไกลจากฝ่ายต่างๆ แต่ตนยืนยันว่าไม่ว่าท่านจะรู้สึกอย่างไร ไม่ว่าท่านจะชอบหรือไม่ชอบพรรคก้าวไกล แต่ช่วยเคารพอำนาจของประชาชนบ้าง อย่าให้การใช้นิติสงครามเป็นเรื่องปกติในสังคมเลย” นายรังสิส มันต์กล่าว.-319-สำนักข่าวไทย