กรุงเทพฯ 21 ส.ค.- Krungthai COMPASS ธ.กรุงไทย ประเมินเศรษฐกิจไทยช่วงที่เหลือของปียังเติบโตได้จำกัด ชี้การบริโภคภาคเอกชนอาจอ่อนแอลง การลงทุนภาคเอกชนแผ่วลง ส่งออกถูกกดดันจากความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์-สงครามการค้า-สินค้าจีนตีตลาด
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2/2567 เติบโต 2.3%YoY หรือขยายตัวเมื่อเทียบจากไตรมาสก่อน 0.8%QoQSA สูงกว่าการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ซึ่งประเมินไว้ที่ 2.1%YoY โดยในช่วงครึ่งปีแรกจีดีพีขยายตัวได้ 1.9%YoY ทั้งนี้สภาพัฒน์ปรับช่วงประมาณการอัตราการขยายตัวของจีดีพีปี 2567 เป็นช่วง 2.3-2.8% (ค่ากลางที่ 2.5%) จากเดิมในช่วง 2.0-3.0% เมื่อเดือน พ.ค. 2567
Krungthai COMPASS มองเศรษฐกิจไทยระยะข้างหน้ายังเปราะบาง โดยประเมินว่าตัวเลขการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคของรัฐบาลและการลงทุนภาครัฐในช่วงที่ผ่านมานั้น เป็นผลสะท้อนของงบประมาณปี 2567 ที่ไม่สามารถเบิกจ่ายได้ตามปกติ แต่หลังจากต้นไตรมาส 3/2567 เป็นต้นมา มีสัญญาณการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐซึ่งเร่งตัวขึ้น และคาดว่าจะกลับมาเป็นเครื่องยนต์สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยยังมีความท้าทายซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการบริโภค การลงทุน และการส่งออกในช่วงที่เหลือของปีว่าจะอยู่ในทิศทางเช่นใด จากความเสี่ยงด้านต่ำที่จะกดดันในระยะข้างหน้า โดย (1) การบริโภคภาคเอกชนอาจอ่อนแอลงเนื่องจากกำลังซื้อถูกกดดันด้วยปัญหาหนี้ครัวเรือนในระดับสูง ขณะที่ความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวลดลงโดยดัชนีของกระทรวงพาณิชย์ล่าสุดในเดือน ก.ค. ต่ำกว่า 50.0 ถือเป็นการเข้าสู่ระดับไม่เชื่อมั่นเป็นครั้งแรกในรอบ 20 เดือน (2) การลงทุนภาคเอกชนที่มีแนวโน้มแผ่วลง เนื่องจากผู้ประกอบการกำลังประสบกับอุปสรรคหลายด้าน ทั้งต้นทุนค่าแรงและโลจิสติกส์ในระดับสูง รวมถึงปัญหาเชิงโครงสร้างซึ่งกระทบต่อความสามารถในการแข่งขัน ส่งผลให้ตัวเลขการลงทุนภาคเอกชนไตรมาส 2/2567 กลับมาติดลบเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 2 ปี (10 ไตรมาส) ทั้งยังมีสัญญาณว่าการลงทุนภาคเอกชนระยะข้างหน้าจะอ่อนแอลงจากการติดลบของตัวเลขการนำเข้าสินค้าทุน ขณะที่ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมยังหดตัว และ (3) การส่งออกยังมีความเสี่ยงด้านต่ำที่กดดันเพิ่มเติม ทั้งปัญหาความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ รวมถึงสงครามการค้าที่รุนแรงขึ้น ตลอดจนการตีตลาดของสินค้าจีน
หากวิเคราะห์ถึงผลกระทบจากการรุกตลาดของสินค้าจีนเข้ามาในไทยและกลุ่มอาเซียน เพื่อระบายสินค้าซึ่งผลิตล้นเกินออกมาท่ามกลางปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่ยกระดับ จะพบว่า ส่วนแบ่งตลาดของสินค้าอุตสาหกรรมไทยในอาเซียนลดลง โดยเฉพาะในสินค้าอุตสาหกรรมสำคัญทั้งเครื่องใช้ไฟฟ้าและรถยนต์ที่สัดส่วนสินค้าจากไทยลดลง ซึ่งเครื่องใช้ไฟฟ้าลดจาก 12.7% (1Q/66) เหลือ 11.5% (1Q/67) ขณะที่รถยนต์ลดลงจาก 20.9% (1Q/66) เหลือ 18.7% (1Q/67) เป็นผลจากที่จีนได้ส่งออกสินค้ามาแข่งขันในตลาดอาเซียนมากขึ้น ปัจจัยข้างต้นจะส่งผลลบต่อการผลิต การส่งออก และการลงทุนภาคเอกชน ทั้งอาจกดดันโมเมนตัมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยต่อไปข้างหน้า.-516.-สำนักข่าวไทย