กรมศุลกากร 7 ส.ค. – “จุลพันธ์” สั่งติดตาม TEMU แพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่จีน ด้านกรมศุลกากรจับกุมสินค้าเถื่อนลักลอบหนีภาษี ไม่ได้มาตรฐาน มอก. กว่า 46.71 ล้านบาท
นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง นายสุรชาติ เทียนทอง ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง นายธีรัชย์ อัตนวานิช อธิบดีกรมศุลกากร แถลงข่าว “ศุลกากรเร่งป้องกันและปราบปรามจับกุมสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานและของที่เป็นอันตรายต่อสังคมมูลค่ากว่า 46.71 ล้านบาท”
เนื่องจากปัจจุบันมีการสั่งซื้อสินค้าผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ นำเข้าจากต่างประเทศจำนวนมาก โดยเฉพาะสินค้าราคาต่ำ และสินค้าไม่ได้คุณภาพ ขาดมาตรฐาน มอก. หวั่นเกิดปัญหากับประชาชนผู้ใช้งาน เพราะสินค้าแทบจะใช้งานไม่ได้ นายกรัฐมนตรี และนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้สั่งการให้กรมศุลกากรเข้มงวดกวดขันกับการนำเข้ามาเพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน ไม่ได้รับอนุญาตให้นำเข้ามาเพื่อจำหน่ายจากสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.)
กระทรวงการคลัง ได้สั่งการให้กรมศุลกากร โดยนายธีรัชย์ อัตนวานิช อธิบดีกรมศุลกากร ดำเนินมาตรการชั่วคราวระหว่างรอกรมสรรพากรแก้กฎหมาย เพื่อดำเนินการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มกับสินค้าที่มีราคาต่อหีบห่อต่ำกว่า 1,500 บาท รวมทั้งดึงแพลตฟอร์ม TEMU และแพลตฟอร์มใหม่ ๆ เข้าสู่ระบบฐานภาษีของไทย หลังเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่ 5 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้ประกอบการจำหน่ายสินค้าที่ตั้งอยู่ในประเทศ คาดว่าต้นปีหน้า ช่วง มี.ค.67 สรรพากรพัฒนาระบบได้แล้วเสร็จ จะเก็บภาษีสินค้าออนไลน์โดยตรง
ขณะนี้หลายหน่วยงานรัฐ ร่วมกันเร่งยกระดับผู้ประกอบการไทยให้แข่งขันกับสินค้าจากจีนและต่างประเทศ ด้วยพัฒนาทักษะแรงงาน การบดต้นทุนการผลิต ด้วยค่าไฟฟ้าถูกลง พาณิชย์ดูแลการทุ่มตลาด ขณะที่ศุลกากรคุมเข้มการตรวจปล่อยสินค้า เน้นเอกซเรย์ตู้สินค้า 100 % และตรวจสอบแหล่งนำเข้าสินค้า ศูนย์กระจายสินค้า สำหรับสินค้าไม่มีมาตรฐาน มอก. เพราะจะเกิดอันตรายต่อผู้ใช้ในประเทศ โดยที่ผ่านมากรมศุลกากรได้ขอหมายศาลเข้าตรวจค้นจับกุมสินค้าไม่ได้มาตรฐานจากโกดังที่เก็บสินค้าเพื่อรอการจำหน่ายได้เป็นจำนวนมาก และยังมีการเพิ่มอัตราสุ่มเปิดตรวจตู้คอนเทนเนอร์สินค้า เพื่อป้องกันมิให้สินค้าที่อาจไม่ได้มาตรฐานผ่านออกจากอารักขาของกรมศุลกากรก่อนได้รับการอนุญาตจากสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม อีกทั้งยังให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการป้องกันและปราบปรามสินค้าที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพและเป็นภัยต่อสังคม เช่น ยาเสพติด บุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า รวมถึงบูรณาการกับหน่วยงานกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) ในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการฉ้อโกงผ่านสื่อสังคมออนไลน์ และกลุ่มอาชญากรรมคอลเซ็นเตอร์ (Call Center) โดยสั่งการให้บูรณาการด้านการข่าวร่วมกันอย่างต่อเนื่อง.-515 – สำนักข่าวไทย