อย.31 ส.ค.-อย.เตือน ผู้ที่ต้องการใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อเพิ่มสมรรถภาพทางเพศ ไม่มีผลิตภัณฑ์เสริมอาหารชนิดไหนสามารถเพิ่มขนาด หรือรักษาผู้เสื่อมสมรรถภาพทางเพศให้หายได้ อย่าหลงเชื่อโฆษณาโอ้อวดเกินจริง อาจสูญเสียเงิน และเป็นอันตรายได้
นพ.พูลลาภ ฉันทวิจิตรวงศ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า ตามที่มีผู้แจ้งร้องเรียนเข้ามายังสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ว่าพบการโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารทางสื่อโซเชียลมีเดีย ที่มีคำโฆษณาชวนเชื่อว่าผู้ที่ได้รับประทานไปแล้ว จะสามารถปลุกความเป็นชาย เพิ่มขนาด มีเพศสัมพันธ์ได้นาน ชะลอและแก้ปัญหาการหลั่งเร็ว ปลอดภัย 100% นั้น อย.ได้ดำเนินการตรวจสอบพบว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวได้รับอนุญาตโดยใช้ชื่อ สารสกัดจากหอยนางรม , แอล-อาร์จินีน , สารสกัดจากโสม , สารสกัดจากเก๋ากี้ , ผงกระชายดำ , ผงถั่งเช่า , ซิงค์ อะมิโน แอซิด คีเลต (ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร)(ตรา บลู มาวน์เท็น) เลขสารบบอาหาร73-1-19156-1-0137
ซึ่งการโฆษณาทางสื่อโซเชียลมีเดียดังกล่าวไม่ได้ขออนุญาตจาก อย. และ เป็นการโฆษณาโอ้อวดเกิดจริง ขณะนี้ อย. ได้ดำเนินการแจ้งระงับการโฆษณาและเชิญเจ้าของผลิตภัณฑ์เปรียบเทียบปรับ จึงขอเตือนผู้บริโภคเพศชายที่ต้องการปลุกความเป็นชายด้วยการรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ขอให้ระมัดระวังอย่าหลงเชื่อโฆษณาเกินจริง ผู้ที่มีปัญหาการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางในการรักษาและฟื้นฟู เพื่อให้ได้รับการรักษาที่ทันเวลา ถูกต้อง ตรงจุด และไม่ต้องสูญเสียเงินโดยไม่จำเป็นอีกด้วย
ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารทุกชนิด เป็นเพียงอาหารชนิดหนึ่ง ไม่มีคุณสมบัติในการรักษาโรคต่าง ๆ และไม่ได้ช่วยเสริมเรื่องทางเพศ ขอให้ผู้บริโภคใช้วิจารณญาณพิจารณาให้ถี่ถ้วนก่อนซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เพราะนอกจากเสียเงินโดยไม่จำเป็นแล้ว หากท่านมีโรคประจำตัว อาจได้รับผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายต่อร่างกายโดยคาดไม่ถึงได้ ที่ผ่านมา อย. ได้มีการตรวจจับผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่กล่าวอ้างสรรพคุณเกินจริงในรูปแบบต่าง ๆ ที่ใช้บุคคลเป็นตัวแทนบอกเล่าสรรพคุณการใช้ ส่วนใหญ่พบโฆษณาในเว็บไซต์ , เคเบิลทีวี , วิทยุ หรือตามหนังสือพิมพ์ นิตยสารต่าง ๆ เป็นต้น ซึ่ง อย.ได้ตรวจสอบและดำเนินคดีต่อผู้กระทำผิดมาโดยตลอดเพราะผลิตภัณฑ์ที่อวดอ้างสรรพคุณเหล่านี้ไม่ได้ขออนุญาตโฆษณาจาก อย.
รองเลขาธิการฯ กล่าวด้วยว่า การโฆษณาโดยไม่ขออนุญาต หรือการโฆษณาที่อวดอ้างสรรพคุณเกินจริงทางสื่อต่าง ๆ ถือเป็นความผิด ซึ่งการโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหารโดยไม่ได้รับอนุญาตจะมีความผิดทางกฎหมาย มีโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือถ้าพิสูจน์ได้ว่าเป็นการโฆษณาสรรพคุณ โอ้อวดเกินจริง หรือหลอกลวงให้เกิดความหลงเชื่อโดยไม่สมควร จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ทั้งนี้ หากผู้บริโภคพบเห็นการโฆษณาหรือจำหน่ายผลิตภัณฑ์สุขภาพใด ที่คาดว่าจะผิดกฎหมายหรืออวดอ้างสรรพคุณเกินจริง สามารถร้องเรียนได้ที่สายด่วน อย. 1556 Email: 1556@fda.moph.go.th ตู้ ปณ.1556 ปณฝ. กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11004 หรือ ผ่านทาง Oryor Smart Application หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ .-สำนักข่าวไทย