กรมชลประทาน 5 ส.ค.-นายกฯ ติดตามสถานการณ์น้ำกรมชลประทาน สั่งทำแผนแก้ปัญหาเร่งด่วนใน 3 ปี พร้อมวางโครงการระยะยาว แก้ไขปัญหาภัยพิบัติมีประสิทธิภาพ มั่นใจน้ำไม่ท่วมเหมือนปี 54 แน่นอน
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมหารือการบริหารจัดการน้ำ ที่กรมชลประทาน โดยมีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม
เมื่อมาถึงนายกรัฐมนตรี ได้รับความบรรยายสรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของทั้งประเทศ จากนายชูชาติ รักจิตร อธิบดีกรมชลประทาน โดยภาพรวมสถานการณ์ฝนในปีนี้ ณ ขณะนี้อยู่ที่ 56% ซึ่งมากกว่าปีที่แล้วในช่วงเดียวกันที่ 4%
ขณะที่นายกรัฐมนตรี ได้กำชับให้ทากรมชลประทานบริหารจัดการน้ำอย่างใกล้ชิดอย่างใกล้ชิดโดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยง และคาดการณ์ว่าจะเกิดน้ำท่วมให้ดูแลลงรายละเอียดเป็นรายอำเภอ
นอกจากนี้ อธิบดีกรมชลประทาน ยังแจงถึงสถานการณ์ที่เขื่อนขุนด่านปราการชล จังหวัดนครนายก ระบายน้ำ ว่า ได้มีการระบายน้ำ ตั้งแต่วันที่ 1-5 สิงหาคม2567 ในระดับคงที่ แต่เนื่องจากมีฝนตกลงมาท้ายเขื่อนจำนวนมากจึงทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วม แต่ขณะนี้ได้ปิดการระบายน้ำที่เขื่อนขุนด่านปราการชลแล้ว
ภายหลังการรับฟังบรรยายสรุปนายกรัฐมนตรี ได้กำชับนายอนุทิน ว่า อยากฝากเรื่องของแม่น้ำโกลก จังหวัดนราธิวาส หลังจากลงพื้นที่ร่วมกับนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย พบว่าจำเป็นจะต้องมีการขุดลอกคลองเพื่อไม่ให้คลองตื้นเขิน และระบายน้ำได้เร็วขึ้น ซึ่งขณะนี้ยังพอมีเวลาอยู่ เนื่องจากฤดูฝนของภาคใต้จะมาช้ากว่าภาคอื่นๆประมาณเดือนพฤศจิกายน
ขณะที่นายอนุทิน รายงานว่า เรื่องนี้แผน และอยู่ในแนวของผังเมืองซึ่งกรมโยธาธิการจะประสานไปทางมาเลเซีย ซึ่งนายกรัฐมนตรียังได้เน้นย้ำและกำชับว่าให้ดำเนินการโดยเร็วแม้ฝนจะมาช้าก็ตาม จะต้องดำเนินการให้เสร็จก่อนฝนจะมา ประทังการมาเลเซียเดือดร้อนเนื่องจากมีพื้นที่ต่ำกว่าประเทศไทย แต่ฝ่ายเราก็เดือดร้อนด้วยเช่นกัน อย่างปีที่แล้วก็เกิดปัญหาน้ำท่วมที่จังหวัดนราธิวาส หากดำเนินการตรงนี้ได้ก็จะบรรเทาความเดือดร้อนลงไปได้
จากนั้นนายกรัฐมนตรี ประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและมอบนโยบาย กล่าวว่าปัญหาเรื่องน้ำ เป็นอีกหนึ่งปัญหาใหญ่ที่ประเทศไทยต้องเผชิญทุกปี ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วม น้ำแล้ง และน้ำไม่ได้คุณภาพ ซึ่งมีความตั้งใจที่จะแก้ไขปัญหานี้อย่างเร่งด่วน โดยได้มอบหมายให้ส่วนราชการที่รับผิดชอบดูแลเรื่องน้ำ บูรณาการการทำงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อจัดทำแผนงานและโครงการที่สำคัญ และสามารถเร่งรัดดำเนินการได้ภายในกรอบระยะเวลา 3 ปี ตลอดจนพิจารณาโครงการสำคัญระยะยาวเพื่อให้น้ำถึงไร่นา น้ำสะอาดทุกหมู่บ้าน แก้ปัญหาภัยพิบัติด้านน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นายกรัฐมนตรี ยังได้เน้นการเสริมประสิทธิภาพของโครงการที่มีอยู่เดิม ให้สามารถใช้ประโยชน์ได้สูงที่สุด พร้อมทั้งพิจารณาก่อสร้างโครงข่ายการบริหารจัดการน้ำและระบบกระจายน้ำเพิ่มเติม เพื่อให้การใช้งบประมาณแผ่นดินเป็นไปอย่างเหมาะสม โดยในช่วงฤดูฝนนี้ มอบหมายให้กรมชลประทานและ GISTDA นำเสนอพื้นที่ที่เกิดน้ำท่วมซ้ำซาก พร้อมทั้งแนวทางการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้สั่งการในที่ประชุมถึงแผน 3 ปี ในด้านทรัพยากรน้ำ โดยมอบหมายให้ สทนช. เร่งรัดการยกร่างแผน 3 ปี ด้านทรัพยากรน้ำและโครงการสำคัญให้แล้วเสร็จ เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีภายในเดือนสิงหาคมนี้ ให้ สทนช. รับผิดชอบในการติดตามและประเมินผล การดำเนินงานตามแผน และรายงานให้คณะรัฐมนตรีทราบเป็นระยะ ให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ สทนช. บูรณาการการดำเนินงานตามแผนงานดังกล่าว เพื่อให้บรรลุผลสัมฤทธิ์ตามที่ได้ตั้งเป้าไว้
ส่วนการการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝนนี้ นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้ สทนช. ติดตามและกำกับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนดำเนินงานตามแนวทางการบริหารจัดการน้ำ และปฏิบัติงานตาม 10 มาตรการรับมือฤดูฝนอย่างเคร่งครัด
ส่วนบริเวณที่เกิดน้ำท่วมซ้ำซาก ให้ สทนช.บูรณาการร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงมหาดไทย ในการกำหนดขอบเขตพื้นที่รับผิดชอบเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมให้ชัดเจน และขอเน้นย้ำให้บริหารสถานการณ์และแก้ไขปัญหาอย่างรวดเร็ว มีการสื่อสารกับประชาชนที่มีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ เข้าถึง และทำให้พี่น้องประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด
ภายหลังการประชุมนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ปัญหาเรื่องน้ำเป็นปัญหาเร่งด่วนของประเทศไทยที่จะต้องแก้ไขให้ดียิ่งขึ้นภายในรัฐบาลนี้ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง และคุณภาพน้ำ และได้มอบหมายให้หน่วยงานเรื่องน้ำเร่งทำงานร่วมกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อจัดทำแผนงานด้านน้ำระยะ 3 ปี และแผนงานสำคัญระยะยาวเพื่อให้ “น้ำถึงไร่นา น้ำสะอาดทุกหมู่บ้าน แก้ปัญหาภัยพิบัติด้านน้ำ” ซึ่งตนได้เน้นย้ำให้ปรับปรุงโครงการที่มีอยู่เดิมให้สามารถใช้ประโยชน์ได้สูงสุด ตลอดจนก่อสร้างโครงข่ายการบริหารจัดการน้ำเพิ่มเติม โดยพิจารณาถึงความเร่งด่วนและความเหมาะสมในการใช้จ่ายงบประมาณเป็นสำคัญ
โดยที่ประชุมหารือการบริหารจัดการน้ำได้พิจารณาและเห็นชอบแผน 3 ปี ด้านทรัพยากรน้ำและโครงการสำคัญ เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำกินน้ำใช้ ปัญหาภัยแล้ง น้ำท่วม ตลอดจนภัยพิบัติด้านน้ำอื่น ๆ ซึ่งจะเกิดประโยชน์กับประชาชน 6.22 ล้านครัวเรือน มีพื้นที่รับประโยชน์ 24.19 ล้านไร่ โดยประกอบด้วยแผนงาน 5 ด้าน ประกอบด้วยการเพิ่มน้ำอุปโภคบริโภค การปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพแหล่งน้ำเดิมและพัฒนาระบบกระจายน้ำ การพัฒนาพื้นที่เกษตรน้ำฝน การพัฒนาพื้นที่น้ำท่วมและป้องกันพื้นที่ชุมชนเมือง และการพัฒนาพื้นที่ต้นน้ำ
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายสำคัญในการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำให้กับพี่น้องประชาชน โดยได้สั่งการให้ สทนช. เร่งจัดทำแผนงานด้านน้ำและเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาภายในเดือนสิงหาคมนี้ และตนได้มอบหมายให้ทุกหน่วยงานบริหารจัดการน้ำโดยไม่ก่อให้เกิดผลกระทบกับพี่น้องประชาชน เน้นการสื่อสารและแจ้งเตือนล่วงหน้าอย่างมีประสิทธิภาพ โดยให้ GISTDA ประเมินภาพถ่ายในพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากร่วมกับกรมชลประทาน และมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ สทนช. ร่วมกัน ติดตาม เฝ้าระวังสถานการณ์ บริหารจัดการและแก้ไขปัญหาในพื้นที่ ตลอดจนแจ้งเตือนประชาชน เพื่อให้เกิดผลกระทบกับพี่น้องประชาชนน้อยที่สุด
เมื่อถามว่า มั่นใจกับการบริหารจัดการน้ำจะไม่ซ้ำรอยน้ำท่วมปี 54 ใช่หรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า “มั่นใจครับ”.-316.-สำนักข่าวไทย