กรุงเทพฯ 1 ส.ค. – หอการค้าไทย ผนึกกำลังภาครัฐและภาคเอกชน 28 หน่วยงานตั้งศูนย์ประสานงานและประชาสัมพันธ์สินค้าเกษตรฯ เพื่อแก้ไขปัญหาสินค้าเกษตรราคาตกต่ำ-ล้นตลาดของไทย
ดร.พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการคนที่ 1 หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่าหอการค้าไทยและ 28 หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนเล็งเห็นว่าภาคเกษตรและอาหารเป็นธุรกิจที่มีความเกี่ยวข้องกับคนส่วนใหญ่ของประเทศมีประชากรที่อยู่ในภาคเกษตร จำนวน 7.8 ล้านครัวเรือน และกำลังแรงงานภาคเกษตรประมาณ 12 ล้านคน โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ของไทยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 1.50 ล้านล้านบาทต่อปี จึงถือว่าภาคเกษตรและอาหารเป็นอีกหนึ่งแหล่งรายได้ที่สำคัญของประเทศ
อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าภาคเกษตร ยังต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนในด้านรายได้ ผลผลิต และคุณภาพ ด้วยปัจจัยภายในและภายนอกที่ควบคุมไม่ได้ อาทิ ความผันผวนของสภาพอากาศ ปัญหาภัยแล้ง โรคระบาดในสัตว์บก สัตว์น้ำ รวมไปถึงโรคระบาดในพืช ส่งผลให้สินค้าเกษตรล้นตลาดและราคาตกต่ำ ตลอดจนการแข่งขันในตลาดส่งออกของโลกที่มีแนวโน้มรุนแรงสูงขึ้น จากกฎระเบียบและมาตรการทางการค้าระหว่างประเทศที่เป็นอุปสรรค ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อผลผลิต และรายได้ของเกษตรกรอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ทั้งนี้ จากสถานการณ์ดังกล่าวข้างต้น หอการค้าไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และภาคีเครือข่าย 28 หน่วยงาน จึงได้ลงนามความร่วมมือว่าด้วย เรื่อง การขับเคลื่อนศูนย์ประสานงานและประชาสัมพันธ์สินค้าเกษตรและอาหาร เพื่อแก้ไขวิกฤตของภาคเกษตรและอาหารในภาวะที่สินค้าเกษตรล้นตลาดและราคาตกต่ำให้เป็นรูปธรรม ตลอดจนพัฒนาแนวทางการยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตเกษตรกร รวมทั้งคุณภาพมาตรฐานสินค้าเกษตร เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันภาคเกษตรและอาหาร
ทั้งนี้ เจตนารมณ์ความร่วมมือฯ ดังนี้ ภาคีหน่วยงานภาครัฐ โดย
- รวบรวมข้อมูลผลผลิตสินค้าเกษตรตามฤดูกาลและจัดส่งข้อมูลให้ศูนย์ประสานงานและประชาสัมพันธ์สินค้าเกษตรและอาหาร เพื่อเป็นฐานข้อมูลกลางและนำมาใช้ข้อมูลร่วมกัน
- รวบรวมผลวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์สินค้าเกษตร ได้แก่ 1) พืชผัก ผลไม้ 2) ประมง และ 3) ปศุสัตว์ที่หน่วยงานต่างๆ จัดทำไว้เพื่อเตรียมความพร้อมในการประสานงานและประชาสัมพันธ์สินค้าเกษตรในกรณีที่ล้นตลาดและราคาตกต่ำไปยังผู้แปรรูปและผู้จัดจำหน่ายโดยตรง
- ส่งเสริมแนวทางยกระดับด้วยการพัฒนาตลาดล่วงหน้าและวิจัยเพื่อแปรรูปสินค้าเกษตรในกรณีที่ล้นตลาดและราคาตกต่ำ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าเกษตรทั้งห่วงโซ่อุปทาน
- ประชาสัมพันธ์ภารกิจของศูนย์ประสานงานและประชาสัมพันธ์สินค้าเกษตรและอาหาร ในราชการส่วนภูมิภาคและเอกชนที่เกี่ยวข้องทุกพื้นที่
ขณะที่ ภาคีหน่วยงานภาคเอกชน โดย 1. นำผลวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์สินค้าเกษตรที่ล้นตลาดและราคาตกต่ำ มาวางแผนช่องทางการตลาดเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรกระจายสินค้าไปยังผู้บริโภคและโรงงานแปรรูป
- ส่งเสริมแนวทางยกระดับด้วยการพัฒนาตลาดล่วงหน้าและวิจัยเพื่อแปรรูป สินค้าเกษตรในกรณีที่ล้นตลาดและราคาตกต่ำ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าเกษตรทั้งห่วงโซ่อุปทาน
- ประชาสัมพันธ์ภารกิจของศูนย์ประสานงานและประชาสัมพันธ์สินค้าเกษตรและอาหาร ไปยังเครือข่ายภูมิภาคทุกพื้นที่ เพื่อให้ความร่วมมือกับศูนย์ประสานงานและประชาสัมพันธ์สินค้าเกษตรและอาหาร ดังนั้น ภาคีเครือข่ายได้จัดตั้งศูนย์ประสานงานและประชาสัมพันธ์สินค้าเกษตรและอาหารหรือ ศูนย์ AFC (Agriculture and Food Coordination and Public Relations Center) ขึ้น โดยจะทำหน้าที่ประสานงานและประชาสัมพันธ์สินค้าเกษตรและอาหารทั่วประเทศ เพื่อแก้ไขปัญหาสินค้าเกษตรล้นตลาดและราคาตกต่ำ ผ่านความร่วมมือตั้งแต่ระดับราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค และภาคเอกชน อาทิ เกษตรจังหวัด พาณิชย์จังหวัด หอการค้าจังหวัด สมาคมการค้าต่างๆ และค้าส่งสมัยใหม่ (Modern Trade) ให้สามารถมีช่องทางการขาย หรือต้องการจะทำ Contract Farming โดยขายให้กลุ่มผู้ค้าส่งสมัยใหม่ ภัตตาคาร ร้านอาหาร หรือโรงงานแปรรูป
ในขณะเดียวกัน ศูนย์ AFC จะทำหน้าที่ประสานงานแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อพยากรณ์สินค้าเกษตรและอาหาร โดยมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย จะช่วยประเมินสถานการณ์สินค้าเกษตรที่ล้นตลาดและราคาตกต่ำร่วมกับภาคีเครือข่าย และนำมาวางแผนช่องทางการตลาด เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรกระจายสินค้าไปยังผู้บริโภค ภัตตาคาร ร้านอาหาร ห้างค้าปลีกสมัยใหม่ และโรงงานแปรรูป เป็นต้น
นอกจากนี้ ภายใต้ความร่วมมือการขับเคลื่อนศูนย์ AFC ได้ริเริ่มช่วยเหลือเกษตรกรและแก้ไขปัญหาสินค้าเกษตรล้นตลาดและราคาตกต่ำแล้ว ดังนี้
- สมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย ได้นำร่องความร่วมมือการรับซื้อวัตถุดิบ สัตว์น้ำกลุ่มปลาโอของไทยจากเรือประมงไทย ร่วมกับ สมาคมประมงอวนล้อมจับ (ประเทศไทย) เพื่อผลักดันและสนับสนุนการใช้วัตถุดิบสัตว์น้ำกลุ่มปลาโอ (โอดำ โอลาย และโอหลอด) ที่ได้จากเรือประมงไทยในน่านน้ำไทย โดยสมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย ได้เตรียมการช่วยรับซื้อสัตว์น้ำกลุ่มปลาโอ (ในช่วงเดือน กรกฎาคม-ธันวาคม 2567) จำนวน 20 ล้านกิโลกรัมหรือคิดเป็นมูลค่า 800 ล้านบาท
- สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย ได้ร่วมมือกับ สมาคมการประมงแห่งประเทศไทย ในการรับซื้อวัตถุดิบปลาทะเลเพื่อนำไปผลิตเป็นเนื้อปลาบด (ซูริมิ) ที่ได้จากเรือประมงไทยในน่านน้ำไทย โดยจะรับซื้อวัตถุดิบสัตว์น้ำในราคา
ที่สูงขึ้น 1-2 บาทต่อกิโลกรัม - สมาคมภัตตาคารไทย ได้ร่วมมือกับ สมาคมผู้เพาะเลี้ยงปลาทะเลไทย ในการส่งเสริมและยกระดับการบริโภคปลากะพงขาวของไทย เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรกระจายสินค้าไปยังสมาชิกสมาคมภัตตาคารไทยและผู้บริโภคโดยตรง ตลอดจนการร่วมประชาสัมพันธ์องค์ความรู้ คุณภาพ และมาตรฐานสินค้าปลากะพงขาวของไทย เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันภาคธุรกิจและเกษตรกร ทั้งหมดนี้ คือ ความตั้งใจของ หอการค้าไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย หอการค้าจังหวัด สมาคมการค้าที่เกี่ยวข้อง และ 28 หน่วยงานภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อแก้ไขสินค้าเกษตรล้นตลาดและราคาตกต่ำ สุดท้ายนี้ ท่านสามารถแจ้งปัญหาราคาสินค้าเกษตรราคาตกต่ำและล้นตลาด ได้ที่หน่วยงานในจังหวัด อาทิ หอการค้าจังหวัด เกษตรจังหวัด และพาณิชย์จังหวัด เพื่อช่วยประสานงานกับศูนย์ประสานงานและประชาสัมพันธ์สินค้าเกษตรและอาหาร (AFC) หรือ ส่งผ่านแพลตฟอร์มแจ้งปัญหาสินค้าเกษตรล้นตลาดและราคาตกต่ำ ได้ที่เว็บไซต์หอการค้าไทย www.thaichamber.org หรือติดต่อโดยตรงเข้าศูนย์ AFC โทร. 02-018-6888 ต่อ 2600 , 6070 , 5480 ได้. -514-สำนักข่าวไทย