กรุงเทพฯ 30 เม.ย.- หอการค้าไทย ตั้งศูนย์ประสานงานกลางฯ ผนึกกำลังภาคเอกชนทุกภาคส่วน มุ่งแก้ไขปัญหาสินค้าเกษตรของประเทศไทยอย่างยั่งยืน ร่วมกรมประมงนำร่อง ช่วยรับซื้อสัตว์น้ำจากชาวประมง พยุงราคาสินค้าสัตว์น้ำในประเทศ
หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้จัดการประชุมหารือความร่วมมือแก้ไขปัญหาสินค้าเกษตรของประเทศไทยอย่างยั่งยืน ร่วมกับสมาคมการค้าที่เกี่ยวข้องกับเกษตรและอาหาร อาทิ สมาคมผู้ค้าปลีกไทย สมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย สมาคมการค้าอาหารสัตว์เลี้ยงไทย สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย สมาคมโรงแรมไทย สมาคมภัตตาคารไทย สมาคมเชฟประเทศไทย และห้างค้าปลีก-ค้าส่งสมัยใหม่ (Modern Trade) เพื่อแก้ไขปัญหาสินค้าเกษตรของประเทศไทยอย่างยั่งยืน
ดร.พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการ คนที่ 1 หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยกล่าวว่า ภาคเกษตรถือเป็น Core Value Chain ที่มีความสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากภาคเกษตรไทยมีความเกี่ยวข้องกับประชากรทั้งประเทศ และมีสัดส่วนครัวเรือนในภาคเกษตรไทยถึง 1 ใน 3 ของครัวเรือนทั้งหมด แต่ สินค้าเกษตรยังต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนในด้านรายได้ ผลผลิต และคุณภาพ ด้วยปัจจัยภายในและภายนอกที่ควบคุมไม่ได้ อาทิ ความผันผวนของสภาพอากาศ ปัญหาภัยแล้ง โรคระบาดในสัตว์บก สัตว์น้ำ รวมไปถึงโรคระบาดในพืช ตลอดจนการแข่งขันในตลาดส่งออกของโลกที่มีแนวโน้มรุนแรงสูงขึ้น และกฎระเบียบ มาตรการทางการค้าระหว่างประเทศที่เป็นอุปสรรคซึ่งส่งผลโดยตรงต่อผลผลิตและรายได้ของเกษตรกรอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เป็นต้น หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้มีข้อห่วงใยต่อเกษตรกร ราคาสินค้าเกษตรและอาหารในปัจจุบัน จึงได้ระดมความร่วมมือจากภาคเอกชนทุกภาคส่วน เพื่อจะช่วยรับซื้อสินค้าเกษตรจากพี่น้องเกษตรกรทั่วประเทศ
ทั้งนี้ หอการค้าไทย ได้จัดตั้งศูนย์ประสานงานกลางและประชาสัมพันธ์สินค้าเกษตรและอาหาร (Coordination Center) เพื่อทำหน้าที่ประสานงานช่วยเหลือและประชาสัมพันธ์สินค้าเกษตรและอาหารทั่วประเทศ โดยหอการค้าไทย ร่วมกับหอการค้าจังหวัดทั่วประเทศ จะเชิญกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (อาทิ กรมประมง กรมปศุสัตว์ กรมส่งเสริมการเกษตร) กระทรวงพาณิชย์ (อาทิ กรมการค้าภายใน กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ) เข้าร่วมเป็นคณะทำงานเพื่อมาร่วมจัดตั้งศูนย์ประสานงานกลางและประชาสัมพันธ์สินค้าเกษตรและอาหาร และแก้ไขวิกฤตของภาคเกษตรและอาหารราคาตกต่ำ สินค้าเกษตรล้นตลาด ฯลฯ ให้เป็นรูปธรรม
ในวันนี้ หอการค้าไทย สมาคมการค้าที่เกี่ยวข้อง และห้างค้าปลีก-ส่งสมัยใหม่ (Modern Trade) ได้ดำเนินการช่วยพยุงราคาสินค้าสัตว์น้ำในประเทศ ร่วมกับกรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์แล้ว ริเริ่มเข้าไปช่วยรับซื้อสินค้าสัตว์น้ำจากเกษตรกรชาวประมงในราคาที่เหมาะสมและเป็นธรรม ซึ่งสมาชิกสมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย สมาคมการค้าอาหารสัตว์เลี้ยงไทย และสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย ได้ประสานงานกับเกษตรกรชาวประมง ในการรับซื้อสินค้าสัตว์น้ำโดยตรง เช่น ปลาโอดำ ปลาโอลาย ปลาไล้กอ ปลาทรายแดง ปลาตาหวาน หมึก ปลากะพงขาว เป็นต้น
นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า จากสถานการณ์ปัญหาราคาสัตว์น้ำตกต่ำ ร้อยเอก ธรรมนัสพรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สั่งการมายังกรมประมง ให้เร่งบรรเทาความเดือดร้อนของชาวประมงอย่างเร่งด่วน โดยกรมประมงได้ดำเนินการมาตรการต่าง ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาและยังมีมาตรการแก้ไขปัญหาฯ ในระยะเร่งด่วนออกมาเพิ่มเป็นระยะ ๆ ที่สำคัญคือการยกระดับมาตรการตรวจสอบสินค้าสัตว์น้ำนำเข้า ได้แก่ 1) การป้องกันการลักลอบนำเข้าสินค้าประมงโดยผิดกฎหมาย มีการจัดชุดเฉพาะกิจของกรมประมงลงพื้นที่ทำงานโดยเฉพาะตามแนวชายแดน 2) ปรับปรุงประกาศกรมประมง เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขออนุญาตและการอนุญาตนำเข้าสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ พ.ศ. 2560 ตามมาตรา 92 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยต้องสามารถตรวจสอบและยืนยันแหล่งที่มาของสัตว์น้ำที่ขอนำเข้าได้ ปริมาณนำเข้าจริงต้องตรงตามที่ระบุในเอกสารการขอนำเข้า ต้องแนบ packing list และต้องแจ้งปลายทางของสินค้าที่นำเข้าเป็นต้น 3) มาตรการยกระดับการตรวจตามมาตรฐานด้านสุขอนามัย โดยจะมีการ
สุ่มตรวจสินค้าสัตว์น้ำเพื่อวิเคราะห์สารตกค้าง โลหะหนัก และสารปนเปื้อน พร้อมทั้งมีการออกประกาศกรมประมง เรื่อง “การยกระดับมาตรการด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (SPS) ในการนำเข้าสินค้าปลากะพงขาวแช่เย็น จากประเทศมาเลเซีย พ.ศ. 2567” โดยผู้ประกอบการต้องแนบ Certificate of Analysis (COA) ที่ออกโดยห้องปฏิบัติการของรัฐหรือรัฐให้การรับรองเท่านั้น ซึ่งมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคมที่ผ่านมา นอกจากนี้ กรมประมงได้มีการสนับสนุนให้นำกลไกการตกลงราคาระหว่างกลุ่มชาวประมงกับสมาคมต่าง ๆ ที่เป็นผู้รับซื้อมาใช้ รวมทั้งประสานหอการค้าไทยและสมาคมการค้าที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นตัวกลางในการประสานห้างค้าปลีก-ค้าส่งสมัยใหม่ (Modern Trade) โรงแรมและภัตตาคารต่าง ๆ ให้ช่วยสนับสนุนผลผลิตประมงภายในประเทศ และคาดว่าหลังจากการดำเนินการมาตรการต่าง ๆ จะส่งผลให้สถานการณ์ราคาสัตว์น้ำในประเทศดีขึ้นตามลำดับ และหลังจากนี้จะมีการดำเนินมาตรการระยะยาวควบคู่กันต่อไป
นายชนินทร์ ชลิศราพงศ์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย กล่าวว่า สมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย ขอความร่วมมือจากโรงงานสมาชิกทั้งจากภาคใต้และสมุทรสาคร ในการรับซื้อปลาจากเรือไทย โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับปลาทูน่า ปลาซาร์ดีน แมคเคอเรล เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาราคาสัตว์น้ำตกต่ำให้แก่ชาวประมง ทางสมาคมฯ มีจุดยืนแน่นอนสนับสนุนนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่จะช่วยเหลือชาวประมงให้อยู่ได้ อุตสาหกรรมอยู่ได้ โดยจะรับซื้อปลาจากเรือประมงไทยเฉพาะที่กรมประมงตรวจสอบแล้ว ไม่เป็น IUU Fishing ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการหารือและช่วยเหลือร่วมกันมาโดยตลอดอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม เสนอว่าควรมีการสื่อสารรับทราบสถานการณ์ราคาสินค้าประมงในประเทศเป็นระยะๆ โดยกรมประมงเป็นคนกลาง เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและสมดุล ในระบบการค้าเสรี
นายอนุชา เตชะนิธิสวัสดิ์ นายกสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย กล่าวว่า สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย ภายหลังจากการประชุมร่วมระหว่างกรมประมง ชาวประมง และโรงงานผู้ผลิตแล้ว ก็ได้มีการนำปัญหาความเดือดร้อนของชาวประมงไปหารือกับสมาชิกโรงงานผู้ซื้อปลาซูริมิ และประชุมตกลงราคาร่วมกันกับผู้แทนสมาคม ชมรม เรือประมง และได้สรุปความตกลงราคารับซื้อขายระหว่างกันเพิ่มขึ้นจากราคาหน้าตลาดทะเลไทยอีกกิโลกรัมละ 1-2 บาท โดยโรงงานสมาชิกเองเมื่อทราบข่าวก็ได้เร่งปฏิบัติตามนโยบายในการรับซื้อปลาจากชาวประมงมาตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคม ที่ผ่านมา เพื่อช่วยพยุงราคาวัตถุดิบสัตว์น้ำที่ราคาตกต่ำ ซึ่งจากการสังเกตการซื้อขายระหว่างกัน พบว่าตั้งแต่ต้นเดือนเมษายน เรื่อยมาถึงปัจจุบัน ราคาปลาซูริมิ ก็ได้ปรับตัวสูงขึ้นเป็นที่พึงพอใจแก่ทุกฝ่าย.-516-สำนักข่าวไทย