สมุทรสาคร 22 ก.ค. – รมว.เกษตรฯ ประชุมร่วมกับสมาคมการประมง เตรียมหารือนายกรัฐมนตรีเพื่อยกระดับการแก้ไขปัญหาปลาหมอคางดำเป็นวาระแห่งชาติ สั่งกรมประมงหารือกรมบัญชีกลางถึงระเบียบและงบประมาณเยียวยาเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ 16 จังหวัดที่ได้รับผลกระทบ อธิบดีกรมประมงระบุ kick off รับซื้อปลาหมอคางดำ 1 ส.ค. แน่นอน ล่าสุดตรวจพบแล้ว ครีบและชิ้นเนื้อที่เก็บจากปลาหมอคางดำในบ่อเพาะเลี้ยงของผู้นำเข้าเมื่อปี 2560
ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยนายอรรถกร ศิริลัทยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมงและผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เดินทางมายังจังหวัดสมุทรสาครเพื่อประชุมกับผู้แทนสมาคมการประมง 16 จังหวัดที่พบการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำเพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหาร่วมกัน
ร้อยเอกธรรมนัสกล่าวว่า เห็นด้วยกับข้อเสนอของสมาคมการประมงและภาคส่วนต่างๆ เกี่ยวกับระยะการเปิดรับซื้อปลาหมอคางดำที่กิโลกรัมละ 15 บาทว่า ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบว่า ควรเปิดรับซื้อถึงเมื่อไรเพื่อไม่ให้มีคนลักลอบเพาะเลี้ยงเพราะหวังนำมาจำหน่าย ย้ำการเพาะเลี้ยงและนำปลาหมอคางดำปล่อยสู่แหล่งน้ำมีโทษหนักทั้งปรับทั้งจำ แต่ขณะนี้การกำจัดออกจากแหล่งน้ำเป็นมาตรการเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการ เมื่อกำจัดแล้วจึงเห็นว่า ควรนำไปใช้ประโยชน์ทั้งเป็นอาหารคน อาหารสัตว์ ทำน้ำหนักชีวภาพเพื่อเป็นแรงจูงใจให้คนเร่งจับ ทั้งยังเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่ม
นอกจากนี้ยังกำชับให้กรมประมงพิจารณาความเหมาะสมเกี่ยวกับการปล่อยปลาผู้ล่าเช่น ปลากะพง ปลาอีกง ปลาช่อน เป็นต้น โดยต้องไม่กระทบต่อระบบนิเวศเพิ่มเติมซึ่งจะทำให้กลายเป็นปัญหาซ้ำซ้อน
ร้อยเอกธรรมนัสกล่าวว่า ได้ประสานกับนายชุมพล แจ้งไพรหรือ “เชฟชุมพล” ในการรังสรรค์เมนูจากปลาหมอคางดำ เบื้องต้นเชฟชุมพลได้ดำเนินการร่วมกับกรุงเทพมหานครเพื่อรณรงค์รับประทานอาหารจากปลาหมอคางดำและจะประสานกับผู้ว่าราชการจังหวัดในพื้นที่ระบาดทั้งหมด
ร้อยเอกธรรมนัสย้ำว่า หารือนายกรัฐมนตรีในการยกระดับการแก้ไขปัญหาปลาหมอสีคางดำเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด รวมทั้งของบกลางมาเร่งแก้ไขปัญหา พร้อมกันนี้สั่งการอธิบดีกรมประมงให้หารือกับกรมบัญชีกลางถึงการเยียวยาเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ได้รับผลกระทบใน 16 จังหวัดว่า จะใช้ระเบียบและงบประมาณจากส่วนใด
อีกทั้งให้กรมประมงตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงถึงสาเหตุของการระบาดให้ได้ใน 7 วันทำการ รวมทั้งพิจารณาข้อกฎหมายด้วยว่า ตามพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 มีบทบัญญัติถึงการลงโทษแก่ผู้ก่อผลกระทบต่อระบบนิเวศแหล่งน้ำหรือไม่ หากเอาผิดทางอาญาและทางปกครองด้วยการเรียกค่าเสียหายไม่ได้ อาจต้องใช้มาตรการทางสังคม
อธิบดีกรมประมงกล่าวว่า ขณะนี้เปิดขึ้นทะเบียนแพปลาที่จะเป็นจุดรับซื้อปลาหมอคางดำ โดยขึ้นทะเบียนแล้ว 45 แห่งและจะขึ้นทะเบียนเพิ่มเติมใน 16 จังหวัด จากนั้นจะเริ่มเปิดรับซื้อในวันที่ 1 สิงหาคมแน่นอน โดยผู้จับปลามาจำหน่ายที่จุดรับซื้อได้กิโลกรัมละ 15 บาท ส่วนแพปลาได้รับค่าดำเนินการและค่าขนส่งมายังสถานีพัฒนาที่ดินจังหวัดเพื่อนำมาทำน้ำหมักชีวภาพกิโลกรัมละ 5 บาท
อธิบดีกรมประมงเน้นย้ำว่า ห้ามเพาะเลี้ยงปลาหมอคางดำอย่างเด็ดขาดตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมประมงออกประกาศแจ้งเตือนอีกครั้งแล้วด้วยว่า หากผู้ใดฝ่าฝืนเพาะเลี้ยงปลาหมอคางดำจะถูกดำเนินคดีตามมาตรา 144 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากนำไปปล่อยในที่จับสัตว์น้ำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
สำหรับการตรวจสอบสาเหตุของการระบาดนั้น สั่งการให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบข้อมูลที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเกี่ยวกับ “ปลาหมอคางดำ” นับตั้งแต่มีบริษัทแห่งหนึ่งขออนุญาตนำเข้าเพื่อนำมาวิจัยปรับปรุงพันธุ์ปลาในปี 2549 ต่อมาบริษัทนำเข้ามาในเดือนธันวาคม 2553 ผ่านด่านตรวจประมงท่าอากาศสุวรรณภูมิ จากนั้นแจ้งว่า งานวิจัยไม่ประสบความสำเร็จจึงกำจัดและทำลายซากปลาทั้งหมดในเดือนมกราคม 2554 ต่อมาเริ่มพบการระบาดของปลาหมอคางดำในปี 2555 แล้วขยายวงกว้างขึ้นจนรุนแรงอย่างยิ่งในขณะนี้
ล่าสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติม พบว่า ในปี 2560 เจ้าหน้าที่กรมประมงขอเข้าตรวจสอบที่บ่อเพาะเลี้ยงของบริษัทแห่งนี้ที่ตำบลยี่สาร อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสาครเพื่อหาตรวจหาสาเหตุเกี่ยวกับการระบาดของปลาหมอคางดำ โดยมีการทอดแหในบ่อเพาะเลี้ยงซึ่งพบมีปลาหมอคางดำในบ่อจึงได้เก็บตัวอย่างจากครีบและชิ้นเนื้อมารักษาไว้ที่ห้องเก็บตัวอย่างของกรมประมง
นายบัญชากล่าวว่า ได้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อหาสาเหตุที่ทำให้เกิดการระบาดของปลาหมอคางดำซึ่งเป็นสัตว์น้ำต่างถิ่น (Alien Species) รุกรานระบบนิเวศแหล่งน้ำของประเทศไทย ตลอดจนสร้างผลกระทบต่อเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและชาวประมง ให้ทราบข้อเท็จจริงภายใน 7 วันทำการ แล้วรายงานต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ในวันพรุ่งนี้ (23 กรกฎาคม) คณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาสาเหตุและแนวทางการแก้ไขปัญหา รวมถึงผลกระทบจากการนำเข้าปลาหมอคางดำ เพื่อการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ในราชอาณาจักรไทย ในคณะกรรมาธิการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สภาผู้แทนราษฎรจะมาประชุมกับกรมประมงเพื่อรับทราบข้อมูลประกอบการหาสาเหตุและแนวทางแก้ไขปัญหาการระบาด โดยกรมประมงจะนำเยี่ยมชมห้องเก็บตัวอย่างสัตว์น้ำที่ชั้น 6 อาคารปรีดา พร้อมอธิบายถึงขั้นตอนการเก็บตัวอย่างสัตว์น้ำอย่างละเอียด
จากนั้นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ตรวจเยี่ยมแพปลาซึ่งขึ้นทะเบียนเป็นจุดรับซื้อปลาหมอคางดำ โดนนำร่องรับซื้อไปแล้ว พร้อมชมขั้นตอนการรับซื้อและชมการสาธิตการทำน้ำหมักชีวภาพจากปลาหมอคางดำโดยกรมพัฒนาที่ดิน น้ำหมักชีวภาพนี้ จะนำส่งให้กองทุนส่งเคราะห์การทำสวนยางที่ให้งบประมาณรับซื้อปลาหมอคางดำเพื่อทำน้ำหมักชีวภาพซึ่งกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางจำหน่ายให้แก่เกษตรกรในราคาถูกใช้สำหรับบำรุงต้นยางพารา
ส่วนจังหวัดสมุทรสาครซึ่งเป็นจังหวัดแรกที่มีรายงานการระบาดของปลาหมอคางดำ ได้นำร่องกำจัดปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำ แล้วนำมาผลิตเป็นน้ำหมักชีวภาพคุณภาพสูง (สูตรไนโตรเจนสูง) 4,000 ลิตร โดยได้แจกจ่ายให้กับประชาชนในพื้นที่ กลุ่มหมอดินอาสา กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกพืชผัก ฝรั่ง ลำไย มะพร้าวน้ำหอม และพลู คิดเป็นพื้นที่ได้รับประโยชน์รวมกว่า 533 ไร่
สำหรับผู้พบพบเห็นปลาหมอคางดำ ให้แจ้งสำนักงานประมงจังหวัดหรือสำนักงานประมงอำเภอในเขตท้องที่ทุกแห่ง หรือแจ้งเบาะแสพิกัดที่พบการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำผ่านระบบออนไลน์ได้ตลอดเวลาที่ https://shorturl.asia/3MbkG . 512 – สำนักข่าวไทย