บนสื่อสังคมออนไลน์มีการแชร์ 6 วิธี รักษาแผลในปากง่าย ๆ มีตั้งแต่การบ้วนปากด้วยน้ำเกลือ หยุดใช้น้ำยาบ้วนปาก ให้ดื่มน้ำมาก ๆ และแนะนำให้กินขิงกับกระเทียม เรื่องนี้จริงหรือไม่ ?
🎯 ตรวจสอบข้อเท็จจริงและคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ รศ.ทพ.ดร.ชาญวิทย์ ประพิณจำรูญ ผู้เชี่ยวชาญสาขาวิทยาการวินิจฉัยโรคช่องปาก ภาควิชาเวชศาสตร์ช่องปาก คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ในภาพรวม บางวิธีช่วยส่งเสริมการหายของแผลได้ เพราะได้รับสารอาหารบางตัวซึ่งส่งผลต่อการหายของแผล แต่โดยรวมเมื่อเกิดแผลในช่องปาก ไม่ว่าแผลร้อนในหรือแผลอะไรก็แล้วแต่ ควรพบแพทย์หรือทันตแพทย์วินิจฉัยก่อนดีกว่า ว่าใช่แผลร้อนในจริงหรือไม่
“แผลร้อนใน” (Aphthous Ulcers) เป็นอาการที่เยื่อบุอ่อนภายในช่องปากอักเสบและเป็นแผล บริเวณที่เกิดแผลสามารถพบเห็นได้ทั่วช่องปาก ไม่ว่าจะเป็นกระพุ้งแก้ม เพดานปาก เหงือก ลิ้น ซึ่งเป็นหนึ่งในแผลในช่องปาก
ส่วนแผลอื่น ๆ ตัวอย่างเช่น แผลที่เกิดจากภูมิแพ้ตัวเอง หรือว่าแผลมะเร็ง แผลที่เกิดจากการติดเชื้อก็เป็นแผลได้เหมือนกัน ซึ่งแต่ละโรคแต่ละแผลก็มีวิธีการรักษาที่แตกต่างกันไป
ข้อ 1. กินอาหารเย็น ?
อาหารเย็นช่วยลดอาการได้ดีกว่า แต่ถ้าเป็นแผลร้อนใน ลดอาการระคายเคืองแผลก็จะหายเร็วขึ้น แต่ถ้าเป็นแผลอื่น ๆ นอกเหนือจากแผลร้อนใน ไม่ได้ช่วยอะไร แค่บรรเทาอาการไม่ให้เจ็บไม่ให้แสบมากขึ้นมากกว่า
ข้อ 2. หยุดใช้น้ำยาบ้วนปากชั่วคราว ?
การหยุดใช้น้ำยาบ้วนปากเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เพราะการใช้น้ำยาบ้วนปาก อาจจะก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อแผลในช่องปากได้ ถ้าแผลเกิดการระคายเคืองแผลจะหายยากขึ้น
คุณสมบัติโดยทั่วไปของ “น้ำยาบ้วนปาก” นอกจากใช้กำจัดเชื้อโรคแล้ว สิ่งที่กลัวก็คือผลข้างเคียงของน้ำยาบ้วนปาก ก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อแผลที่เป็น ทำให้แผลหายยากขึ้น หรือบางส่วน นอกจากแผลหายยากขึ้นแล้วอาจจะมีอาการข้างเคียงได้ และ/หรือ บางรายมีการติดเชื้อซ้ำซ้อนทำให้อาการของโรครุนแรงมากขึ้นได้
ข้อ 3. บ้วนปากด้วยน้ำเย็นผสมเกลือ ?
“น้ำเย็นผสมเกลือ” ไม่น่าจะช่วยทำให้แผลหายเร็วขึ้น
การบ้วนปากด้วยน้ำเย็นผสมเกลือ มีส่วนช่วยลดการระคายเคืองในช่องปาก ลดอาการแสบและอาการปวดแผลได้ เพียงแต่จะต้องระวังเรื่องการใช้เกลือ ถ้าใช้เกลือที่มีความเข้มข้นมากเกินไป ใส่มากเกินไป ก็จะทำให้แผลหายยากขึ้น เพราะความเข้มข้นของเกลือค่อนข้างสูงจะกัดแผลมากกว่า
“น้ำเกลือ” ควรมีความเข้มข้นไม่มากเกินไป และสามารถทำเองที่บ้านได้ นั่นคือ เกลือ 1 ช้อนชา (ปาดเรียบ) ต่อน้ำ 300 มิลลิลิตร คนให้ละลาย เท่านี้ก็ใช้บ้วนปากได้แล้ว
ข้อ 4. หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มร้อน ?
“เครื่องดื่มร้อน” หรือ “อาหารร้อน” ระคายเคืองแผลแน่นอน ทำให้แผลอักเสบมากขึ้นและหายยากขึ้น ส่วนอาหารเผ็ด อาหารรสจัดกัดแผล ระคายเคืองแผล
บางคนที่แผลกำลังจะหายแต่ไปกินอาหารรสจัด หรืออาหารเผ็ด เกิดอาการระคายเคืองมากขึ้น แผลก็ไม่หายสักที
ข้อ 5. ดื่มน้ำมาก ๆ ?
การดื่มน้ำไม่ได้มีส่วนสำคัญทำให้แผลหายเร็วขึ้น แต่การดื่มน้ำมีส่วนช่วยทำให้ช่องปากชุ่มชื้นมากขึ้น แผลระคายเคืองน้อยลง แผลที่กำลังจะหายก็หายได้เร็วขึ้น ส่วนแผลที่ยังไม่หายก็ยังไม่หาย จึงต้องไปพบแพทย์
ข้อ 6. กินขิงและกระเทียมช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น
“ขิง” และ “กระเทียม” เป็นพืชผักชนิดหนึ่ง มีสารอาหารบางตัว มีวิตามินบางตัว อาจจะส่งเสริมการหายของแผลได้ แต่การกินโดยตรงเพื่อหวังผลว่าจะทำให้แผลหายเร็วขึ้นไม่น่าจะจริง
คำแนะนำเพิ่มเติม ?
เมื่อมีแผลในปาก ขนาดแผลเล็ก แผลใหญ่ ไม่มีความสำคัญ แต่ถ้าเกิดเป็นอยู่นานและเป็นร้อนในบ่อย ๆ (เป็น ๆ หาย ๆ) มากกว่า 2 สัปดาห์แล้ว ทำไมยังเจ็บอยู่ไม่หายสักที เริ่มน่ากลัวแล้ว
สิ่งที่ต้องฉุกคิดก็คือ ควรจะต้องไปตรวจ เพราะว่าแผลนั้นอาจจะไม่ใช่แผลปกติธรรมดาแล้ว การรักษาก็ค่อนข้างจะยาก ต้องไปตรวจว่าเป็นอะไรกันแน่ วินิจฉัยโดยแพทย์หรือทันตแพทย์ก็ได้ การตรวจไม่มีอะไรยุ่งยากซับซ้อน ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด ตรวจดูว่าเป็นแผลอะไรจะได้รักษาถูกวิธี แผลก็หายเร็วขึ้นด้วย
โดยภาพรวม บางวิธีช่วยส่งเสริมการหายของแผลได้ เพราะได้รับสารอาหารบางตัวที่ส่งผลต่อการหายของแผล
ขอให้ทุกคนสังเกตแผลในปากตัวเอง ถ้าเกิดเป็นอยู่นานแล้วไม่หาย ไม่ว่าจะเป็นแผลอะไร ควรไปพบแพทย์หรือทันตแพทย์ก่อนดีกว่า เพื่อทำให้ปากไม่มีอาการเจ็บ ไม่มีอาการปวด กลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ กินอาหารอะไรก็ได้ตามปกติที่ควรจะเป็น
การรู้สาเหตุของปัญหาที่แท้จริง จะทำให้แก้ปัญหาและรักษาได้ตรงจุด
สัมภาษณ์โดย พีรพล อนุตรโสตถิ์
เรียบเรียงโดย คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล
ดูเพิ่มเติมรายการ ชัวร์ก่อนแชร์ : 6 วิธี รักษาแผลในปาก ง่าย ๆ จริงหรือ ?
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter