สำนักข่าวไทย 22 ส.ค.-แพทย์ชี้อัตราการหกล้มในผู้สูงอายุที่พบ ส่วนใหญ่มาจากการสวมรองเท้าเก่าดอกยางหายเพียงเพราะความเสียดาย ขณะที่การหกล้มถึงขั้นสะโพกหักต้องผ่าตัด ส่วนใหญ่ในผู้สูงอายุ ผ่านไป 1 ปี มักเสียชีวิต
นพ.สมศักดิ์ ลีเชวงวงศ์ หัวหน้าศูนย์การแพทย์เฉพาะทางออร์โธปิดิกส์ รพ.เลิดสิน กล่าวว่า ขณะนี้สัดส่วนของประชากรผู้สูงอายุในไทย กำลังเพิ่มขึ้น ในอีก4- 5 ปี ข้างหน้าคาดว่าประเทศไทย จะมีผู้สูงอายุ อายุมากกว่า 60 ปี ถึงร้อยละ 20 หรือ1 ใน 5 ของจำนวนประชากรและพฤติกรรมของผู้สูงอายุที่น่าห่วงกังวล คือเรื่องการหกล้ม เพราะร่างกายเริ่มเสื่อมตามวัย อีกทั้ง สายตาเริ่มไม่ค่อยดี มองไม่ชัด การทรงตัวเริ่มไม่ดี กระดูกไม่ดี รวมถึงการกินยาบางประเภททำให้ผู้สูงอายุมีอาการวิงเวียน ซวนเซ โดยอวัยวะที่น่าห่วง หรือ บาดเจ็บหนักได้ง่าย และรุนแรงที่สุดคือกระดูกสะโพกหัก ต้องเข้ารับการผ่าตัดเพื่อแก้ไข และพบว่าร้อยละ 20 ของผู้สูงอายุที่ มีภาวะกระดูกสะโพกหัก จะเสียชีวิต หลังสะโพกหักไปประมาณ 1 ปี หรือบางคนก็อาจใช้ไม้เท้า หรือนั่งรถเข็นตลอดชีวิต และมีโอกาสที่จะเกิดกระดูกหักซ้ำได้อีก
นพ.สมศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับปัจจัยที่ทำให้ผู้สูงอายุ หกล้มได้ง่าย คือ รองเท้าที่ไม่มีคุณภาพ ไม่มีดอกยาง ที่มักชอบสวมใส่ไว้เพราะความเสียดาย ขณะที่เมื่อผู้สูงอายุมีปัญหาสายตา และการทรงตัวอยู่แล้วหากสวมรองเท้าไม่ดี ก็เพิ่มโอกาสในการหกล้มมากขึ้น ดังนั้น หากรองเท้าชำรุดให้ทิ้งไปเลย เพราะมิเช่นนั้น หากหกล้มก็จะเข้าทำนอง เสียน้อยเสียยาก เสียมากเสียง่าย สำหรับครอบครัวที่มีผู้สูงอายุควรปรับปรุงบ้านเรือน ให้มีราวจับ สำหรับผู้สูงอายุด้วย ส่วนพื้นที่สาธารณะของไทย ตอนนี้ก็เริ่มมีการปรับปรุงเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุมากขึ้นแล้วแต่คิดว่ายังน้อยไปเมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น ญี่ปุ่น .-สำนักข่าวไทย