กรมสบส.21 ส.ค.-กรม สบส.สั่งตรวจสอบข้อเท็จจริง หลังมีชายรายหนึ่งร้องเรียน รพ.เอกชนแห่งหนึ่ง วินิจฉัยโรคผิดพลาดว่าป่วยเป็นโรคเอชไอวี จนได้รับความเดือดร้อนในการดำเนินชีวิต ชี้หากพบมีการทำผิดมาตรฐานตามที่ พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ. 2541 กำหนดด้านใดด้านหนึ่งจะดำเนินการตามกฎหมายโดยทันที
จากกรณีมีการเผยแพร่ข่าวถึงชาย อายุ 50 ปี ซึ่งไปตรวจสุขภาพกับโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง ย่านศรีนครินทร์ เพื่อจะนำผลไปประกอบการกู้เงินธนาคารเพื่อขยายธุรกิจ แต่ผลออกมาว่าเป็นโรคติดเชื้อไวรัสเอชไอวี (Human Immunodeficiency Virus ;HIV)จึงไปตรวจเลือดกับโรงพยาบาลอื่นอีกหลายแห่งเพื่อยืนยัน จนผลตรวจออกมาแน่ชัดแล้วว่าตนไม่ได้เป็นโรคติดเชื้อไวรัสเอชไอวี นั้น
นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า กรม สบส. ได้รับการร้องเรียนจากผู้เสียหาย และได้สั่งการให้พนักงานเจ้าหน้าที่ของสำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าว โดยพนักงานเจ้าหน้าที่จะตรวจสอบในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ. 2541 ทั้ง 3 ประเด็น คือ 1.ผู้ดำเนินการสถานพยาบาลมีการควบคุมและดูแล ผู้ประกอบวิชาชีพในสถานพยาบาลของตนให้ปฏิบัติตามมาตรฐานวิชาชีพ ตามที่พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สถานพยาบาล พ.ศ.2541 กำหนดหรือไม่
2.ผู้ประกอบวิชาชีพ มีการดำเนินการตามมาตรฐานวิชาชีพหรือไม่ และ 3.สถานพยาบาลมีการควบคุม คุณภาพ มาตรฐาน ครบถ้วนทั้ง 5 ด้าน ตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งประกอบด้วย 1)สถานที่ สะอาด เหมาะสมแก่การให้บริการ 2)ผู้ประกอบวิชาชีพในสถานพยาบาลจะต้องขึ้นทะเบียนและได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพถูกต้องตามกฎหมาย 3)การบริการเป็นไปตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด 4)เครื่องมือ ยา และเวชภัณฑ์ มีคุณภาพได้รับการขึ้นทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และ 5)ความปลอดภัย มีอุปกรณ์ช่วยชีวิตในกรณีฉุกเฉิน หรือไม่ โดยในเบื้องต้นกรม สบส.ได้รับการชี้แจงจากโรงพยาบาลเอกชนดังกล่าวบางส่วนแล้ว และเพื่อให้ความเป็นธรรมแก่ทั้งสองฝ่าย ได้มีการมอบให้ผู้เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป
ด้านทันตแพทย์อาคม ประดิษฐสุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ (สพรศ.) กล่าวว่า การวินิจฉัยโรคหรือการวินิจฉัยภาวะผิดปกติต่างๆของร่างกาย ด้วยการตรวจทางห้องปฏิบัติการหรือห้องแล็บ (Laboratory) ซึ่งหนึ่งในวิธีการรายงานผลตรวจ คือ การรายงานว่า “ผลตรวจเป็นบวก” หรือ “ผลตรวจเป็นลบ” หาก “ผลตรวจเป็นบวก” หมายความว่า อาจจะมีโอกาสเป็นโรค หรือมีภาวะนั้น แต่อย่างไรก็ตามการตรวจวินิจฉัยโรคที่มีความร้ายแรง แพทย์ควรจะใช้วิธีการอย่างน้อย 2-3 วิธีร่วมกัน ทั้งการตรวจประวัติอาการ ประวัติทางการแพทย์ การตรวจร่างกาย และผลจากการตรวจสืบค้นเพิ่มเติม ทั้งนี้ หากประชาชนมีข้อร้องเรียนสถานพยาบาลเอกชนสามารถแจ้งได้ที่กรม สบส. หมายเลขโทรศัพท์ 02 193 7000 ต่อ 18830 (กลุ่มคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิ์) ในวันและเวลาราชการ .-สำนักข่าวไทย