กรุงเทพฯ 10 พ.ค.-เครดิตบูโร ห่วงชำระขั้นต่ำบัตรเครดิต 8% หวั่นหนี้เสียพุ่ง
นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด กล่าวว่า การสินเชื่อบัตรเครดิตจากฐานข้อมูลสถิติที่ไม่มีตัวตนของเครดิตบูโร ไตรมาสที่ 1/2567 มีความห่วงใยการจ่ายชำระหนี้ขั้นต่ำของบัตรเครดิตจะต้องเริ่มต้นที่ 8%จากเดิมผ่อนผันในช่วงการระบาด covid-19 กำหนดไว้ 5% จึงมีคำถามว่า กติกาใหม่จะทำให้หนี้เสีย NPLsกระโดดขึ้น จะทำให้หนี้กำลังจะเสียหรือ SM เพิ่มหรือไม่
จากตัวเลข ณ มีนาคม 2567 ยอดหนี้บัตรเครดิตทั้งหมด 24ล้านใบ เป็นเงิน 5.5แสนล้านบาทเติบโต 3.2%yoy เทียบจากสิ้นปี 2566 หดตัว 5.1% จากไตรมาสก่อน โดยสินเชื่อบัตรเครดิตที่เป็น NPLs ค้างเกิน 90วันมีจำนวน 1 ล้านบัตรเศษคิดเป็นยอดเงิน 6.4หมื่นล้านบาทเติบโต 14.6%yoy อันนี้เริ่มไม่สบายใจแล้วครับ
ส่วนยอดหนี้ที่เป็น SM หรือหนี้กำลังจะเสียพบว่ามีจำนวนบัตรที่ชำระหนี้ได้แบบตะกุกตะกัก ติดๆขัดๆ 1.9แสนบัตร จำนวนเงิน 1.2หมื่นล้านบาทเติบโต 32.4%yoy มาถึงตรงนี้เริ่มตาโตแล้วครับว่า แค่สามเดือนแรกของการปรับเพิ่มยอดชำระขั้นต่ำ นับว่าเกิดการกะโดดใน SM เติบโตถึง 20.6 % จึงต้องระวังว่ามันจะไหลเพิ่ม ไหลแรงกว่าเดิม นอกจากปัญหาค่าครองชีพแล้ว กลุ่มเปราะบางรายได้ไม่ฟื้นตัว มันสะท้อนแล้วว่าชำระหนี้สินเชื่อนี้ได้ลำบากมากขึ้น
จากบัตรเครดิตที่เป็น SM.จำนวนเกือบสองแสนใบนั้นเป็นบัตรเปิดมาไม่เกิน 2 ปี มีจำนวน 3.6 หมื่นบัตร อยู่ในมือคน Gen Y 2.3 หมื่นบัตร
เปิดบัตรมากกว่า 2- 4ปี มีจำนวน 3.9 หมื่นบัตร อยู่ในมือ Gen Y 2.7หมื่นบัตร Gen X 9.2พันบัตร เปิดมามากกว่า 4- 6ปี จำนวน 4.5หมื่นบัตร อยู่ในมือคน Gen Y 3หมื่นบัตร Gen X 1.2หมื่นบัตร จึงมองว่า ลูกหนี้ SM จะไหลต่อเป็น NPLs.อีกเท่าใด การกำหนดให้ชำระหนี้ขั้นต่ำเพิ่มขึ้นจาก 5%เป็น 8% และ 10%ตามลำดับ
ยอมรับว่า ช่วยแก้ปัญหาหนี้ได้จริงๆใช่มั้ยตามเป้าประสงค์มาตรการ ความจริงคนเรามีบัตรเครดิตได้หลายใบ การเพิ่มอีก 3%ของยอดหนี้ในแต่ละใบ คนไม่เคยเป็นหนี้อาจนึกไม่ออกว่าจะหมุนหาจากไหนไปจ่ายได้ และประการสุดท้ายค่าใช้จ่ายทั้งหลายมันเริ่มเพิ่มอย่างชัดเจนเช่น ไข่ไก่ ผักบางชนิด น้ำมันเริ่มขยับ เป็นต้น ต้องกลับมาดูกันเพราะแค่ 3เดือนกลิ่นมันแรงแบบโตขึ้น 32.4%yoy และ 20.6% รายไตรมาส มันไม่ธรรมดาน จึงน่าเป็นห่วง.-515 สำนักข่าวไทย