26 เม.ย. – กลุ่ม ปตท. ติดตามสถานการณ์ความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ ประสานข้อมูลเชื้อเพลิงมั่นคงไม่ขาดแคลน
นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปตท.ได้ติดตามสถานการณ์ขัดแย้งอิสราเอล-อิหร่าน อย่างต่อเนื่อง แล ได้มีการบริหารจัดการพลังงานทั้งน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ ไม่ขาดแคลน บนราคาที่เหมาะสม ซึ่งจากการที่ ปตท.มีธุรกิจในต่างประเทศ มีศูนย์ซื้อขายในหลายทวีป ก็ทำให้กระจายการจัดหา ไม่ได้พึ่งพาตะวันออกกลางเพียงจุดเดียว
เช่นเดียวกับนายวุฒิกร สติฐิต ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นต้นและก๊าซธรรมชาติ ปตท. กล่าวในงานเสวนา ค่าไฟฟ้าที่เป็นธรรมต้องทำอย่างไร ว่า ในส่วนของก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้า ปัจจุบันต้องนำเข้า LNG มาใช้มากขึ้น แต่ขณะนี้ถือว่าราคาค่อนข้างมีเสถียรภาพ อยู่ที่ราว 10 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู ซึ่งประเทศไทยจำเป็นต้องพึ่งพาก๊าซฯ ในระหว่างการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาด โดย ปตท.มีสถานะเป็นผู้นำเข้ารายหนึ่งที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงาน กกพ. การผลิตไฟฟ้านับวันก็มีความท้าทายมากขึ้นตามลำดับ เพราะโลกเข้าสู่ยุคดิจิทัล และ AI ที่ทำให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าโตอีกเป็นเท่าตัว หัวใจสำคัญคือการผสมผสานที่สมดุลระหว่างการเปิดให้มีการแข่งขันเสรีกับระบบการกำกับดูแล ซึ่งทั้งหมดขับเคลื่อนด้วยนโยบายที่ต้องพิจารณาในเรื่องราคาที่ต้องสะท้อนต้นทุนเพื่อไม่ให้เกิดภาระกับประเทศในระยะยาว รวมถึงการเตรียมโครงสร้างพื้นฐานรองรับพลังงานหมุนเวียนที่จะเข้ามามากขึ้น
ด้าน ปตท.สผ. ชี้แจงผลประกอบการไตรมาส 1 มีรายได้ 2,093 ล้านดอลลาร์สหรัฐ กำไร 524 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยหลักมาจากการส่งขายน้ำมันดิบโครงการในแอลจีเรียลดลง แต่มีปริมาณขายที่เพิ่มขึ้นจาก จี 1/61 (หรือเอราวัณ) ที่ได้เพิ่มกำลังการผลิตก๊าซสู่ระดับ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน ตั้งแต่ 20 มี.ค.ที่ผ่านมา นอกจากนั้น บริษัทยังคงรักษาต้นทุนต่อหน่วย ที่ 28.96 ดอลลาร์/บาร์เรล คาดปริมาณการขายเฉลี่ย ปีนี้ 509,000 บาร์เรล/วัน เพิ่มขึ้นจากปี 66 โดยหลักจากการเพิ่มขึ้นของจี 1/61 และบี 8/32
ทั้งนี้ ปตท.สผ. คาดว่าในปีนี้ อุปทานน้ำมันดิบจะยังคงตึงตัว โดยมีปัจจัยสำคัญ เช่น การเติบโตด้านเศรษฐกิจ และการควบคุมการผลิตของกลุ่ม OPEC+ เป็นต้น คาดราคาน้ำมันดิบดูไบเคลื่อนไหวในกรอบราคา 70-90 ดอลลาร์/บาร์เรล. – สำนักข่าวไทย