กรุงเทพฯ 14 ส.ค. – รัฐบาลเตรียมประกาศแผนปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ ผ่านการลงทุน 6 ด้าน เร่งรัดเขตเศรษฐกิจแม่สอด ส่งเสริมเอสเอ็มอีลงทุน CLMV ตั้งศูนย์บุคลากรทักษะสูง ส่งเสริมลงทุนเกษตรแปรรูป
นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า หลังจากนายกรัฐมนตรีสั่งให้ปรับบทบาทสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) หันมาเน้นส่งเสริมการลงทุนด้านอื่นเพิ่ม หลังจากการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกคืบหน้าไปมากแล้ว จึงมุ่งเน้นพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษตามแนวชายแดน จากเดิมกำหนดแผนพัฒนา 10 เขต ปรับให้เลือกมุ่งพัฒนาเป็นรูปธรรมเพียง 3 เขตให้ชัดเจน ได้แก่ เขตเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดตาก มุกดาหาร สระแก้ว เพื่อรองรับรัฐบาลเตรียมประกาศแผนการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจผ่านการลงทุน 6 ด้าน
มาตรการที่ 1 เร่งรัดพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด จังหวัดตาก เลือกจาก 3 เขตเป้าหมายและทำให้สำเร็จนำร่อง 1 เขต และขยายไปยังเขตเศรษฐกิจอื่น เพื่อเสนอนายกรัฐมนตรีพิจารณาเร็ว ๆ นี้ หวังเดินหน้าพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทุกด้านให้พร้อม ทั้งถนน ไฟฟ้า ประปา เพื่อต้องการให้เขตเศรษฐกิจพิเศษแม่ฮ่องสอน จังหวัดตาก เป็นแบบอย่างให้เป็นรูปธรรมทั้งโลจิสติกส์ ด้านบริการ และการพัฒนาบุคลากรเสริมกับเขตเศรษฐกิจฝั่งตรงข้ามของประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อคัดเลือกอุตสาหกรรมไปลงทุนในเขตดังกล่าว โดยไม่ต้องแข่งขันกันเองกับเพื่อนบ้าน แต่เพื่อส่งเสริมซึ่งกันและกันทั้ง 2 ประเทศ เช่น ฝั่งเมียนมาร์ตั้งโรงงานผลิตใช้แรงงานของตน ในส่วนไทยพร้อมเป็นช่องทางจำหน่ายและนำมาพัฒนาต่อยอดเพิ่ม
มาตรการที่ 2 การส่งเสริมให้เอสเอ็มอีที่มีศักยภาพเข้มแข็งออกไปขยายลงทุนในต่างประเทศเพื่อนบ้าน CLMV เพื่อสร้างช่องทางการตลาดเพิ่มเติมจาก 70 ล้านคนในประเทศ เพิ่มเป็น 200 ล้านคน จึงมอบหมายให้บีโอไอนำเอสเอ็มไปตั้งฐานในประเทศเพื่อนบ้าน เมื่อระบบโลจิสติกส์ ระบบเงินทุน มีความพร้อมคาดว่าเอสเอ็มอีของไทยจะออกไปขยายการตลาดมากขึ้น มาตรการที่ 3 การตั้งศูนย์บุคลากรทักษะสูง (STC) เพื่อพัฒนาและส่งเสริมบุคคลากรรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-Curve ทั้งด้านนาโนเทคโนโลยี ไบโอเทคโนโลยีร่วมกับมหาวิทยาลัย บริษัทเอกชนพัฒนาบุคคลากรรองรับระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก และใช้แนวทางส่งเสริมการลงทุนนอกจากภาษีแล้วยังมีมาตรการดึงดูดการลงทุนเพิ่ม เพื่อให้ต่างชาติเข้ามาตั้งศูนย์กลางภูมิภาคในประเทศไทย รวมถึงการส่งเสริมผู้ประกอบการสตาร์ทอัพในช่วง 3-5 ปีข้างหน้า
มาตรการที่ 4 บีโอไอเจาะกลุ่มเป้าหมายเป็นกลุ่มประเทศชัดเจน อาทิ ยุโรป มุ่งร่วมมือกับเยอรมนี เพราะเป็นแบบอย่างพัฒนาไทยแลนด์ 4.0 รวมทั้งฝรั่งเศสและอังกฤษ เนื่องจากพร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยี ทั้งพลังงานทดแทน เทคโนโลยีนวัตกรรม ขณะที่กลุ่มประเทศเอเชีย เน้นจับมือกับจีน ญี่ปุ่น เกาหลี เพื่อนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาถ่ายทอดให้กับไทย เนื่องจากทั้ง 3 ประเทศพัฒนาเทคโนโลยีไปมากแล้ว และพร้อมเข้ามาขยายการลงทุนในประเทศไทย เพื่อต่อยอดอุตสาหกรรมเดิมที่เคยลงทุนไปแล้ว มาตรการที่ 5 การส่งเสริมลงทุนด้านเกษตรแปรรูป เพื่อต่อให้จากสมาร์ทฟาร์มเมอร์ หวังพัฒนากลุ่มเกษตรแปรรูป กลุ่มอาหาร สมุนไพร เมื่อใช้เทคโนโลยีเข้าไปพัฒนาผ่านการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอทั้งด้านภาษีและมาตรการอื่น เช่น การให้ต่างชาติเข้ามาร่วมทุนถ่ายทอดเทคโนโลยี เนื่องจากไทยมีศักยภาพด้านเกษตรปลูกพืชเศรษฐกิจทุกประเภท จึงเหมาะแก่การส่งเสริมอุตสาหกรรมแปรรูปผ่านบีโอไอ
และมาตรการที่ 6 การพัฒนา 5 ภาค ทั้งภาคตะวันออก ภาคเหนือ ภาคกลาง ตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ หลังจากเริ่มต้นพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกไปแล้ว จึงมุ่งพัฒนาจุดเด่นให้ทุกภาคตามศักยภาพแต่ละพื้นที่ ขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือจับมือกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เพื่อเป็นจุดหลักพัฒนาบุคคลากรให้กับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนภาคใต้พัฒนาด้านอุตสาหกรรมยางแปรรูป และการท่องเที่ยว การปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจผ่าน 5 มาตรการส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอ เพื่อตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี หวังลดความเหลื่อมทางสังคม พัฒนาเทคโนโลยี มุ่งสู่ไทยแลนด์ 4.0 มาตรการทั้งหมดเตรียมเสนอนายกรัฐมนตรีผลักดันในการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจไทยผ่านการลงทุน.-สำนักข่าวไทย