เชียงใหม่ 15 เม.ย. – นักท่องเที่ยวแห่เล่นน้ำสงกรานต์รอบคูเมืองเชียงใหม่กันคึกคัก เป็นวันที่ 4 แล้ว สินค้าขายดีสุดอย่างหนึ่งคือน้ำแข็งก้อน เพิ่มความเย็นให้น้ำที่ใช้สาดกัน
บรรยากาศการเล่นน้ำสงกรานต์รอบคูเมืองเชียงใหม่ ตลอดทั้งวันนี้ ยังเนืองแน่นไปด้วยผู้คนทั้งชาวเชียงใหม่ นักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติที่ถือปืนฉีดน้ำ หิ้วถังน้ำออกมาปักหลักเล่นน้ำสงกรานต์รอบคูเมืองกันเป็นวันที่ 4 ซึ่งบรรยากาศยังสนุกสนาน สาดน้ำกันจนน้ำนองบนถนนเลยทีเดียว มีทั้งคนที่ปักหลักเล่นริมคูเมือง บางส่วนถือปีนฉีดน้ำเล่นไปรอบ หลายคนก็ขี่จักรยานยนต์ ตุ๊กตุ๊ก ซาเล้ง ไปจนถึงนั่งหลังรถกระบะบรรทุกน้ำออกมาเล่นน้ำสงกรานต์กันอย่างสนุกสนาน
ท่ามกลางอากาศที่ร้อนอบอ้าว ทำให้น้ำแข็งกลายเป็นสินค้าขายดีของช่วงสงกรานต์เชียงใหม่ เพราะส่วนใหญ่นิยมใช้ใส่น้ำเพิ่มความเย็นให้น้ำที่ใช้สาดกัน รอบๆ ริมคูเมืองเชียงใหม่ จะมีพ่อค้าแม่ค้าชูป้ายเรียกลูกค้ากันมีทั้งผู้ชายขายน้ำแข็ง หรือป้ายแข็ง ยาว ใหญ่ เย็น สร้างจุดขายเรียกลูกค้าให้มาอุดหนุนน้ำแข็งในราคาก้อนละ 100 บาท บางร้านขายได้มากกว่าวันละ 100 ก้อน สร้างรายได้วันละนับหมื่นบาท
ส่วนใหญ่คนที่ซื้อน้ำแข็งมาใส่ในน้ำบอกว่า อากาศร้อนจัดทำให้น้ำที่สาดกันร้อนไปด้วย เลยช่วยเติมน้ำแข็งในน้ำเพื่อเพิ่มความเย็น เพราะอยากให้คนที่โดนสาดรู้สึกสดชื่น โดยน้ำในคูเมืองผ่านการตรวจสอบคุณภาพแล้วว่าสามารถเล่นได้ไม่เป็นอันตราย แต่ก็มีคำเตือนให้ระวังอย่ากลืนน้ำเข้าไปในร่างกายหรือพยายามอย่าให้เข้าตา
สีสันประกวดพระเจดีย์ทราย จ.เชียงใหม่
ส่วนที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ จัดแข่งขันประกวดพระเจดีย์ทราย มีทีมเข้าแข่งขัน ทั้งหมด 25 อำเภอ ส่วนใหญ่ก็จะจำลองพระเจดีย์ทราย เป็นเจดีย์ของวัด ในอำเภอของตนเอง แต่ก็มีการก่อเจดีย์ทรายแบบประยุกต์ โดยกติกา ให้เวลาก่อสร้างพระเจดีย์ทรายนาน 6 ชั่วโมง แต่ทำไม่เสร็จ จึงขยายเวลาให้เป็น 8 ชั่วโมง ซึ่งแต่ละทีมก็มีสล่ามือดี มาก่อสร้าง ซึ่งจะมีเจดีย์องค์ใหญ่ 1 องค์ และเจดีย์บริวารอีก 19 องค์ มีการประดับตกแต่งด้วยตุงไส้หมู และกระดาษสายรุ้ง สวยงามมาก
ผลการประกวด เจดีย์ทรายจากอำเภอหางดง เป็นเจดีย์แบบประยุกต์ แกะภาพเป็นใบหน้าพระพุทธเจ้า ได้รางวัลที่ 1 คว้าเงินรางวัล 100,000 บาท ส่วนอันดับ 2 อำเภอแม่วาง ได้รับเงินรางวัล 30,000 บาทและ ที่ 3 จากอำเภออมก๋อย ได้รับเงินรางวัล 20,000 บาท ทั้งนี้เพื่อเป็นการส่งเสริมประเพณี วัฒนธรรม ของท้องถิ่น ให้ได้สืบทอด ไปถึงคนรุ่นหลัง หรือลูกหลานได้เห็นความสำคัญ ประเพณีที่งดงามของท้องถิ่น เพื่อเป็นต่อยอดสืบสานสู่คนรุ่นใหม่ .-สำนักข่าวไทย