11 เม.ย.-DSI ร่วมอัยการ มีมติแจ้งข้อกล่าวหา 9 ตำรวจ สภ.อรัญประเทศ กรณี “ลุงเปี๊ยก” ตามกฎหมายป้องกันปราบปรามการทรมานฯ
ตามที่กรมสอบสวนคดีพิเศษได้รับกรณี ตำรวจ สภ.อรัญประเทศ ถูกกล่าวหาว่าบังคับหรือทรมานให้นายปัญญา หรือ “ลุงเปี๊ยก” รับสารภาพในคดีฆาตกรรมนางบัวผัน หรือ “ป้าบัวผัน” ที่ถูกเยาวชนรุมทำร้ายจนเสียชีวิตเป็นคดีพิเศษ เนื่องจากเข้าข่ายเป็นความผิด ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 หรือ พ.ร.บ.อุ้มหายฯ โดยเป็นคดีพิเศษที่ 9/2567 และแจ้งการรับคดีพิเศษไปยังสำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อรับทราบและมอบหมายให้พนักงานอัยการเข้ามาร่วมตรวจสอบแล้วนั้น
วานนี้ (10 เม.ย.67) คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษที่ 9/2567 นำโดยนายอังศุเกติ์ วิสุทธิ์วัฒนศักดิ์ ผู้อำนวยการกองกิจการอำนวยความยุติธรรม กรมสอบสวนคดีพิเศษ หัวหน้าคณะพนักงานสอบสวน ได้ประชุมร่วมกับ นายวัชรินทร์ ภาณุรัตน์ รองอธิบดีอัยการ สำนักงานการสอบสวน หัวหน้าคณะทำงานตรวจสอบหรือกำกับการสอบสวน สำนักงานอัยการสูงสุด และคณะพนักงานอัยการ โดยที่ประชุมมีมติร่วมกันว่าทางคดีมีพยานหลักฐานพอแจ้งข้อกล่าวหาข้าราชการตำรวจ สถานีตำรวจภูธรอรัญประเทศ ที่เกี่ยวข้องจำนวน 9 นาย ประกอบด้วย ระดับสัญญาบัตร 6 นาย และระดับประทวน 3 นาย แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ
กลุ่มที่ 1 เกี่ยวข้องกับการควบคุมตัวลุงเปี๊ยก จำนวน 8 นาย ประกอบด้วยตำรวจระดับสัญญาบัตร 5 นาย และระดับประทวน 3 นาย มีหลักฐานพอแจ้งข้อหาในความผิดฐาน “เป็นเจ้าหน้าที่รัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ในการร่วมกันกระทำการควบคุมตัวบุคคลโดยมิชอบ” อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมาน และการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 มาตรา 6 มาตรา 7 และมาตรา 22 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 มาตรา 309 มาตรา 310 ประกอบมาตรา 83
กลุ่มที่ 2 พบการปฏิบัติหน้าที่ไม่เป็นไปตามกฏหมายแต่ยังไม่พบพยานหลักฐานว่ามีส่วนเกี่ยวข้องในการควบคุมลุงเปี๊ยก เป็นระดับสัญญาบัตร 1 นาย โดยแจ้งข้อหาในความผิดฐาน “เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ” อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157
หลังจากนี้ คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษจะมีหนังสือแจ้งให้ทุกนายมารับทราบข้อกล่าวหาซึ่งผู้ถูกกล่าวหาทุกนายมีสิทธิ์ที่จะนำข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่พิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนมาให้สอบสวนรวบรวมในสำนวนการสอบสวนได้ ทั้งนี้ เมื่อทำการสอบสวนเสร็จสิ้นแล้ว ในกลุ่มแรก พนักงานสอบสวนจะส่งสำนวนการสอบสวนไปยังพนักงานอัยการเพื่อดำเนินการตาม พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการกระทำทรมานฯ มาตรา 31 วรรคท้าย และแจ้งคณะกรรมการ ป.ป.ช.ทราบ ส่วนกลุ่มที่สอง หากพบว่าเป็นคดีความผิดที่อยู่ในอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. จะได้พิจารณาดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายต่อไป. -119-สำนักข่าวไทย