สมุทรสาคร 5 เม.ย.-จ.สมุทรสาคร ยืนยันไม่ได้ประกาศพื้นที่เป็นเขตภัยพิบัติ หลังพบการลักลอบขนย้ายกากแคดเมียมและสังกะสี 1.5 หมื่นตัน มาอยู่ในพื้นที่นานหลายเดือน แต่ได้ประกาศห้ามเข้าพื้นที่ 90 วัน ขณะสาธารณสุขเร่งตรวจสุขภาพคนงาน-ชุมชน
บรรยากาศภายในซอยกองพนันพล หมู่2 ต.บางน้ำจืด อ.เมืองสมุทรสาคร จ.สมุทรสาคร ประชาชนที่อาศัยอยู่โดยรอบโรงหลอม ที่ตรวจพบว่าซุกกากแคดเมียมและสังกะสี กว่า 15,000 ตัน ซึ่งเป็นสารอันตรายไว้ในโรงงาน มานานหลายเดือน เช้านี้ พบว่าประชาชนยังคงใช้ชีวิตกันตามปกติ บางคนสวมหน้ากาก บางคนไม่สวม ซึ่งบริเวณในซอย พบว่ามีโรงหลอมอยู่เป็นจำนวนมาก ส่งกลิ่นเหม็นคล้ายสารเคมี และฝุ่นสีขาวคละคลุ้งตลอดทั้งซอย
ขณะตัวโรงงานพบว่า ได้ปิดรั้วไว้ และไม่อนุญาตให้ผู้ใดเข้าตามประกาศกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธาธารณภัย ที่ลงนามโดยผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ในฐานะผู้อำนวยการจังหวัดใช้อำนาจ ตามกฎหมายป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ออกประกาศห้ามไม่ให้บุคคลใดๆ เข้าไปอยู่อาศัยหรือดำเนินกิจการใดในพื้นที่โรงงาน เป็นระยะเวลา 90 วัน เพื่อให้อุตสาหกรรมจังหวัดเข้าตรวจสอบ ซึ่งยังไม่ใช้ประกาศการประเขตภัยพิบัติแต่อย่างใด
จากการตรวจสอบหลายหน่วยงานเมื่อวานนี้ พบมีกากแคดเมียมที่มาจากทางจังหวัดตาก ประมาณ 15,000 ตัน บรรจุในถุงบิ๊กแบ็กขนาดใหญ่ กว่า 1 จัดเก็บไว้ใน 2 อาคาร โดยเจ้าหน้าที่ได้ทำการอายัติไว้แล้ว ขณะที่ข้อมูลจากอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร ระบุว่าโรงงานแห่งนี้เป็นโรงงานที่ได้รับอนุญาตให้กักเก็บและบดย่อยกากอุตสาหกรรมและหล่อหลอมอะลูมิเนียมเท่านั้น การกระทำของโรงงานจึงถือว่ามีความผิดฐานประกอบการโดยไม่ได้รับอนุญาตและยังเก็บวัตถุเป็นพิษโดยไม่ได้รับอนุญาต และได้มีคำสั่งขนย้ายกากแร่แคดเมียมทั้งหมดออกจากจังหวัดสมุทรสาคร เพื่อส่งกลับไปยังบริษัทต้นทางที่จังหวัดตาก โดยจะให้เวลารีบดำเนินการภายใน 7 วัน
อย่างไรก็ตามแม้มีการยืนยันว่า ในขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลผู้ได้รับผลกระทบจากสารแคดเมียมในบริเวณดังกล่าว และกากแคดเมียมและกากสังกะสีดังกล่าวซึ่งผสมด้วยปอร์ตแลนด์ซีเมนต์ 30% อยู่ในสถานะแข็งตัว และถูกจัดเก็บในสถานที่มิดชิด ไม่ให้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แม้จะมีการยืนยันว่ายังไม่พบอันตรายออกมาพื้นที่โดยรอบ แต่ดูเหมือนจะสวนทางกับความรู้สึกของคนในพื้นที่ที่บอกยังรู้สึกไม่ปลอดภัยและอยากให้ทางจังหวัดเร่งเข้ามาตรวจสอบคุณภาพอากาศและน้ำโดยรอบ
มีรายงานว่า รมว.อุตสาหกรรม กำลังลงพื้นที่เข้าตรวจสอบโรงงานอีกครั้ง ซึ่งอีกประเด็นสำคัญคือต้องตรวจสอบว่าสารอันตรายและจำนวนมากขนาดนี้ โดยตามหลักจะต้องถูกฝังกลบแบบถาวร ที่ จ.ตาก แต่กลับถูกทยอยขนย้ายเข้ามาในพื้นที่นี้ได้อย่างไร.-สำนักข่าวไทย