TNA News-Now-Next: “เอเวอร์แกรนด์” ผลพวงหรือต้นตอวิกฤติอสังหาฯ จีน

ปักกิ่ง 29 มี.ค.- กลางเดือนมีนาคม แวดวงอสังหาริมทรัพย์จีนมีข่าวใหญ่ เมื่อเอเวอร์แกรนด์ กรุ๊ป (Evergrande Group) และผู้ก่อตั้ง ถูกทางการจีนสั่งปรับเป็นเงินมหาศาลราว 21,000 ล้านบาท ถือเป็นความคืบหน้าสำคัญของวิกฤติอสังหาริมทรัพย์ที่สร้างความปวดหัวให้แก่เศรษฐกิจจีน


ที่มาที่ไปของเอเวอร์แกรนด์

เอเวอร์แกรนด์เป็นบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ก่อตั้งขึ้นในปี 2539 โดยนายฮุย คายัน (Hui Ka Yan) หรือที่คนทั่วไปรู้จักในชื่อ สวี่ เจียหยิ่น (Xu Jiayin) อดีตมหาเศรษฐีอันดับ 1 ของจีน และ 1 ในผู้ร่ำรวยที่สุดของเอเชีย ปัจจุบันอายุ 65 ปี


นายฮุย ปี 2559

เอเวอร์แกรนด์ทำรายได้มหาศาลจากการขายห้องชุดหรืออพาร์ตเมนต์แบบพรีเซลล์หรือการขายล่วงหน้าให้กับชาวจีนที่มีรายได้สูงไปจนถึงปานกลาง  โดยได้รับการจัดอันดับในปี 2561 ให้เป็นบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่มีมูลค่ามากที่สุดในโลก แต่ถัดมาเพียง 3 ปีในปี 2564 เอเวอร์แกรนด์กลับกลายเป็นบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่มีหนี้สินมากที่สุดในโลก โดยมีหนี้สินมากกว่า 300,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 10.9 ล้านล้านบาท) และมีสินทรัพย์ 240,000 ล้านดอลลาร์ (ราว 8.76 ล้านล้านบาท)  สินทรัพย์ร้อยละ 90 อยู่ในจีนแผ่นดินใหญ่

หนี้สินที่ล้นพ้นตัว ทำให้โครงการอสังหาริมทรัพย์หลายโครงการหยุดชะงัก ไม่สามารถสร้างต่อให้เสร็จ บริษัทเอเวอร์แกรนด์พยายามดิ้นรนปรับโครงสร้างหนี้ และได้ยื่นขอพิทักษ์ทรัพย์ต่อศาลในแมนฮัตตันของสหรัฐในเดือนสิงหาคม 2566 จากนั้นในเดือนกันยายน นายฮุย ผู้เป็นซีอีโอถูกทางการจีนจับกุมและถูกสอบสวนในคดีอาญาฐานต้องสงสัยว่าก่ออาชญากรรมที่ผิดกฏหมาย

จุดจบของเอเวอร์แกรนด์


เอเวอร์แกรนด์มาถึงจุดจบเมื่อศาลฮ่องกงมีคำสั่งในเดือนมกราคมปีนี้ให้เอเวอร์แกรนด์เลิกกิจการและขายทรัพย์สินเพื่อชำระบัญชี หลังจากบริษัทไม่สามารถปรับโครงสร้างหนี้ให้กับเจ้าหนี้

โครงการบนเกาะไหหลำที่ต้องถูกรื้อทิ้ง

และเมื่อวันที่ 19 มีนาคม คณะกรรมการกํากับดูแลหลักทรัพย์ของจีนได้ลงดาบด้วยการสั่งปรับเอเวอร์แกรนด์และนายฮุยเป็นเงินมากถึง 583 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 21,000 ล้านบาท) ด้วยข้อหาสั่งการให้พนักงานของเหิงต้า ซึ่งเป็นบริษัทลูกที่อยู่ในจีน ให้ตกแต่งรายงานผลประกอบการประจําปี 2562 และ 2563  จนสูงเกินจริงไปถึง 78,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 2.8 ล้านล้านบาท) ในช่วงเวลา 2 ปีก่อนที่เอเวอร์แกรนด์ผิดนัดชำระหนี้ รวมทั้งได้ปรับนายฮุยเป็นเงิน 6.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 236 ล้านบาท) และห้ามนายฮุยทำธุรกิจในตลาดทุนจีนตลอดชีวิต

จุดเริ่มต้นของปัญหา

เอเวอร์แกรนด์เป็นบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ชื่อกระฉ่อนที่สุดในบรรดาบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์หลายสิบแห่งของจีนที่มีปัญหาผิดนัดชําระหนี้ นับตั้งแต่รัฐบาลจีนเริ่มมาตรการกวาดล้างการปล่อยสินเชื่อให้แก่ภาคอสังหาริมทรัพย์มากจนเกินไปในปี 2563 เป็นนโยบายที่มีชื่อว่า “เส้นสีแดงสามเส้น” หรือ “three red lines” หวังชะลอการลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่การเติบโตร้อนแรงเกินไป  โดยได้วางมาตรการเข้มงวดเรื่องวงเงินขอสินเชื่อ ทำให้บริษัทเหล่านี้ไม่สามารถกู้ยืมเงินเพื่อชำระหนี้เจ้าหนี้และลูกค้า นำมาซึ่งการผิดนัดชำระหนี้ และทำให้ฐานะทางการเงินของเอเวอร์แกรนด์ร่วงจากมีมูลค่าสูงสุดเป็นติดหนี้มากที่สุดภายในเวลาเพียง 3 ปี

จีนถูกมองมานานแล้วว่า มีสภาพเศรษฐกิจที่ไม่สมดุลและพึ่งพาสินเชื่อมากเกินไป และภาคอสังหาริมทรัพย์เป็นธุรกิจที่มีหนี้สินมากที่สุด โดยมีเอเวอร์แกรนด์ก็เป็นบริษัทที่มีมูลค่าหนี้มากที่สุดในธุรกิจนี้ ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า การล่มสลายของเอเวอร์แกรนด์ไม่ได้สร้างความประหลาดใจให้กับนักลงทุนในประเทศหรือทั่วโลก เพราะพวกเขารู้อยู่แล้วว่าเหตุการณ์นี้จะต้องเกิดขึ้น

โมเดลการทำธุรกิจของเอเวอร์แกรนด์ก็เหมือนกับบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายอื่น ๆ ในจีนที่มีรูปแบบการขายแบบพรีเซลล์หรือการขายล่วงหน้า เป็นกลยุทธ์ทางการตลาดที่มีความเสี่ยงรออยู่ข้างหน้าแต่ก็สามารถทำให้ชาวจีนจำนวนไม่น้อยนำเงินมาลงทุนกับที่พักอาศัยโดยที่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าบ้านจะสร้างเสร็จเมื่อใด

ผลกระทบของเอเวอร์แกรนด์

ชาวจีนนำทรัพย์สินไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70 ไปลงทุนในอพาร์ตเมนต์ การล่มสลายของเอเวอร์แกรนด์จึงสร้างความเสียหายให้กับหลายคน ผู้ลงทุนกับเอเวอร์แกรนด์ ไม่ว่าจะเป็นผู้ซื้อเพื่อพักอาศัยหรือสถาบันการเงินจะต้องรอให้ศาลเป็นผู้วินิจฉัยและจัดลำดับผู้ที่จะได้รับเงินเมื่อเอเวอร์แกรนด์เลิกกิจการและขายทรัพย์สิน

นักลงทุนไปชุมนุมหน้าสำนักงานเอเวอร์แกรนด์

ภาคอสังหาริมทรัพย์ครองสัดส่วนมากกว่า 1 ใน 4 ของธุรกิจทั้งหมดในจีน วิกฤตหนี้ของภาคอสังหาริมทรัพย์จึงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจจีนเป็นวงกว้าง เพราะกระทบไปถึงธุรกิจก่อสร้าง วัสดุก่อสร้าง ของตกแต่งบ้าน และอื่น ๆ ขณะเดียวกันราคาที่อยู่อาศัยที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้เจ้าของบ้านขาดทุนจากการลงทุนและต้องใช้จ่ายอย่างประหยัด นอกจากนั้นปริมาณการซื้อขายที่ดินที่ลดลงทําให้รัฐบาลท้องถิ่นขาดรายได้จากการเก็บภาษีและรายได้อื่น ๆ ส่งผลให้รัฐบาลท้องถิ่นมีหนี้สูงขึ้นตามไปด้วย

เอเวอร์แกรนด์ไม่เหมือนเลห์แมน บราเธอร์ส

การล้มละลายของเอเวอร์แกรนด์ถูกนำไปเปรียบเทียบกับการล้มละลายของเลห์แมน บราเธอร์ส บริษัทบริการการเงินยักษ์ใหญ่ของสหรัฐ ซึ่งนำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่ในสหรัฐ เลห์แมน บราเธอร์สถูกฟ้องล้มละลายในวันที่ 15 กันยายน 2551 โดยมีหนี้สินมากถึง 613,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 22 ล้านล้านบาท) ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของสหรัฐที่อยู่ในภาวะถดถอยอยู่แล้วให้เข้าสู่ภาวะดิ่งเหว

การล่มสลายของเลห์แมนส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากการปล่อยสินเชื่อที่พักอาศัยแบบเสี่ยงให้แก่ผู้ซื้อ ทำให้ระบบการเงินไร้เสถียรภาพ ผู้ซื้อไม่สามารถชำระเงินที่กู้ยืมไปได้ตามกำหนด ส่งผลเป็นระลอกคลื่นไปทั่วตลาดหุ้นวอลล์สตรีทและทําให้ผู้กู้เสี่ยงที่จะถูกยึดทรัพย์ ต่างจากเอเวอร์แกรนด์ที่ปัญหาเกิดจากบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ผิดนัดชำระหนี้

นอกจากเอเวอร์แกรนด์ ยังมีคันทรีการ์เดน

คันทรีการ์เดน (Country Garden) บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เอกชนรายใหญ่ของจีนก็กำลังเผชิญกับชะตากรรมเดียวกัน โดยถูกเอเวอร์เครดิต (Ever Credit) ที่เป็นบริษัทเจ้าหนี้ยื่นฟ้องเมื่อเดือนกุมภาพันธ์เรื่องไม่ชำระหนี้จำนวน 1,600 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง (ราว 7,540 ล้านบาท) คันทรีการ์เดน ซึ่งเคยผิดนัดชําระหนี้ในต่างประเทศมาแล้วในเดือนตุลาคม 2566 ประกาศว่า จะขอต่อสู้คดีอย่างถึงที่สุด ศาลได้กำหนดวันไต่สวนคําร้องครั้งแรกในวันที่ 17 พฤษภาคมนี้  เหตุการณ์ของคันทรีการ์เดนเกิดขึ้นเพียงหนึ่งเดือนหลังจากบริษัทเอเวอร์แกรนด์ถูกศาลฮ่องกงสั่งให้เลิกกิจการ

โครงการของคันทรีการ์เดนที่ถูกทิ้งร้าง

TNA News-Now-Next Final Thoughts:

เอเวอร์แกรนด์กลายเป็นสัญลักษณ์ของเศรษฐกิจจีนที่เผชิญกับอุปสรรคใหญ่ในอนาคตอันใกล้ ประกอบด้วยภาวะเศรษฐกิจชะลอการเติบโต หนี้สินเพิ่มขึ้น และแรงงานหดตัว สิ่งที่เกิดขึ้นกับเอเวอร์แกรนด์ทำให้ต้องกลับมาคิดทบทวนว่า บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เป็นต้นตอของวิกฤตภาคอสังหาริมทรัพย์ในจีนจากการก่อหนี้เกินตัว หรือเป็นผลพวงจากวิกฤตที่เกิดจากการที่รัฐบาลต้องการกระตุ้นการบริโภคในประเทศ

รัฐบาลจีนตระหนักดีว่า เศรษฐกิจของประเทศที่พึ่งพาการส่งออกเป็นหลักในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมาอาจเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอนจึงพยายามที่จะส่งเสริมการบริโภคภายในประเทศให้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากยกเลิกมาตรการควบคุมโควิดอย่างเข้มงวดไปแล้ว แต่เศรษฐกิจยังคงไม่ฟื้นตัวอย่างที่คิด ผู้สังเกตการณ์คาดว่าจีนอาจจะเผชิญกับภาวะเงินฝืดในอนาคตจากปัญหาต่าง ๆ ที่รุมเร้า และเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2566 ดัชนีราคาผู้บริโภคของจีนลดลงมากที่สุดในรอบสามปี.-818(814).-สำนักข่าวไทย

ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

เหล้าเถื่อนลาว

เสียชีวิตรายที่ 6 คลัสเตอร์เหล้าเถื่อนในลาว

คลัสเตอร์เหล้าเถื่อนในลาว มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเสียชีวิตเพิ่มรายที่ 6 เป็นหญิงชาวออสเตรเลีย เสียชีวิตขณะรักษาตัวในไทย

ย้ายเจ้ากรมยุทธศึกษา ทบ.

ย้ายเจ้ากรมยุทธศึกษาทหารบก ช่วยปฏิบัติราชการที่กองบัญชาการกองทัพบก หลังถูกร้องทำร้ายร่างกายผู้ใต้บังคับบัญชา พร้อมช่วยเจ้าทุกข์ย้ายหน่วยตามร้องขอ

ไฟไหม้โรงงานพัดลม เผาวอดเสียหายกว่า 50 ล้าน

ไฟไหม้โรงงานผลิตพัดลมรายใหญ่ จ.สมุทรสาคร ระดมรถดับเพลิงระงับเหตุ กว่า 5 ชม. จึงควบคุมไว้ได้ในวงจำกัด เบื้องต้นเสียหายกว่า 50 ล้านบาท

ข่าวแนะนำ

คะแนนไม่เป็นทางการ เลือกตั้งนายก อบจ.นครฯ

ลุ้นผลคะแนนเลือกตั้งนายก อบจ.นครศรีธรรมราช นับเสร็จแล้วบางหน่วย ล่าสุด ณ เวลา 19.40 น. “วาริน ชิณวงศ์” เบอร์ 2 จากทีมนครเข้มแข็ง ชนะคู่แข่งขาดลอยในหลายหน่วย คะแนนทิ้งห่างแชมป์เก่า “กนกพร เดชเดโช” เบอร์ 1 จากพรรค ปชป.

เร่งประสานอินเตอร์โพลขอหมายแดงล่าตัว “หมอบุญ”

ตำรวจเตรียมออกหมายจับเครือข่าย “หมอบุญ” ฉ้อโกง ลอต 2 รวมทั้งเร่งประสานอินเตอร์โพล ออกหมายแดงล่าตัว “หมอบุญ” กลับมาดำเนินคดี

“ทนายสายหยุด” จ่อถอนตัวคดีตั้ม หวั่นติดร่างแห

“ทนายสายหยุด” เตรียมถอนตัวเป็นทนายให้ “ตั้ม” เผยในมือมีแต่พยานเท็จ ปิดบังข้อเท็จจริง เสี่ยงเป็นผู้ร่วมกระทำผิด

ศึกชิงนายก อบจ.สุรินทร์ “ธัญพร มุ่งเจริญพร” เข้าป้าย

ศึกชิงนายก อบจ.สุรินทร์ ลุ้นกันจนนาทีสุดท้าย “ธัญพร มุ่งเจริญพร” พลิกชนะ “พรชัย มุ่งเจริญพร” แชมป์เก่าแบบขาดลอย คว้าเก้าอี้มาครอง นั่งนายก อบจ.หญิงคนแรกของจังหวัด