อุดรธานี 16 มี.ค. – ปลัด มท. ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมแปลงโคก หนอง นา นางสุมาลี คุลิหา บ้านหมากตูม อ.เมืองอุดรธานี เน้นย้ำ ขยายผลสิ่งที่ดีให้เกิดการรวมกลุ่มอย่างเป็นรูปธรรมและต่อเนื่อง เพื่อทำให้พี่น้องประชาชนในพื้นที่ได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน
วันนี้ (16 มี.ค. 67) เวลา 12.40 น. ที่แปลงโคก หนอง นา นางสุมาลี คุลิหา เลขที่ 215 บ้านหมากตูม ตำบลนาข่า อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี นายกองเอก สุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ตรวจติดตามการขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่ตามโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคก หนอง นา โดยมี นายวันชัย คงเกษม ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี นายราชันย์ ซุ้นหั้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย นายสุรศักดิ์ อักษรกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี นายกฤต อรรคศรีวร หัวหน้าสำนักงานจังหวัดอุดรธานี นายไพโรจน์ โสภาพร ผู้ตรวจราชการกรมการพัฒนาชุมชน นายภควัตร คำพวง พัฒนาการจังหวัดอุดรธานี นายสาจิต จันทรศิริ ท้องถิ่นจังหวัดอุดรธานี โอกาสนี้ นายวิมล สุระเสน นายอำเภอเมืองอุดรธานี พร้อมด้วยข้าราชการในพื้นที่ นายเสถียร รอดบุญมา กำนันตำบลนาข่า นายจิรวัฒน์ โพธิ์ศรี ผู้ใหญ่บ้านหมากตูม หมู่ที่ 16 และกำนัน ผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่อำเภอเมืองอุดรธานี นายวิโรจน์ ศรีพันธุ์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลนาข่า นางสุมาลี คุลิหา เจ้าของแปลกโคก หนอง นา พร้อมภาคีเครือข่ายโคก หนอง นาในพื้นที่อำเภอเมืองอุดรธานี รวมกว่า 100 คน ร่วมให้การต้อนรับ
นายกองเอก สุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า วันนี้มาเป็นกำลังใจ และมาเยี่ยมเพื่อที่ให้เรื่องที่มาเยี่ยมได้กระจายไปทั่วประเทศว่า พี่สุมาลี คุลิหา และสามี ผู้เป็นแบบอย่าง “คนมีความสุข” จากการทำโคก หนอง นา กระทั่งหมดหนี้หมดสิน เป็นต้นแบบการยึดเอาหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงตรัสไว้ว่า ต้องมีบันได 9 ขั้น พอกิน พออยู่ พอใช้ พอร่มเย็น แล้วตามด้วยทำบุญ ทำทาน รู้จักแปรรูป ถนอมอาหาร เพื่อเก็บไว้กินไว้ใช้ได้นาน ๆ หลังจากนั้นก็นำไปขาย และประการสุดท้าย คือ การรวมกลุ่มภาคีเครือข่าย บางคนมี 1 ไร่ 2 ไร่ 3 ไร่ 6 ไร่ เพื่อให้เกิดพลังการพัฒนาต่อยอด เช่น ถ้าเรามี 100 บ้าน ฟักทองบ้านละ 20 ลูก เก็บไว้กิน 10 ลูก พอรวมกันเราก็จะมี 1,000 ลูก เอาไปแปรรูป ไปขายผลสด ก็สามารถทำการตลาดขายส่งได้ และสามารถต่อรองราคาขายได้ ที่สำคัญเป็นอาหารที่มีความปลอดภัยจากสารเคมี อันจะทำให้ชุมชนสังคมเรามีความสุขมีความเจริญ
“ทั้งหลายทั้งปวงนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงอรรถาธิบายว่า เป็น “อารยเกษตร” อารยะ แปลว่า เจริญ เกษตร แปลว่า แผ่นดิน แผ่นดินเป็นที่มาของอาหารของทุกอย่าง ดังนั้น แผ่นดินที่เจริญรุ่งเรืองก็จะมีความสวยงาม มีคลองไส้ไก่ที่คดเคี้ยวเลี้ยวลด มีที่ดินสูงกลางต่ำเตี้ยเรี่ยดิน เป็นเนิน เป็นโคก เป็นที่ราบ ที่ลุ่ม เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของพวกเราด้วยการปรับปรุงพื้นที่ ปรับปรุงดิน ให้พื้นที่ดินมีความอุดมสมบูรณ์ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชปณิธานที่อยากเห็น “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข” โดยวิธีการที่จะทำให้ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุขได้ คือ ต้องแก้ไขในสิ่งผิด ดังพระบรมราชโองการองค์ที่ 2 ที่พระราชทานแก่ข้าราชบริพารว่า “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ด้วยการสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ดังพระปฐมบรมราชโองการ “เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป” ซึ่งคำว่า “ต่อยอด” คือการทำให้เหมาะสมต่อจริตหรือความชอบหรือภูมิสังคมของเราได้ แต่ขั้นต้นพื้นฐานต้องเป็นแบบพี่สุมาลี คือ ชีวิตแต่เดิมทำอะไรมาก็มีแต่หนี้สิน จนกระทั่งมาทำโคก หนอง นา จนชีวิตหมดหนี้สิน กระทั้งมีความสุข ซึ่งหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มีหลักการที่สำคัญ คือ การพึ่งพาตนเอง ปลูกพืช 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง คือ “พอกิน” มีพืชผักผลไม้ กล้วย ข้าว มัน อ้อย และสัตว์เลี้ยงเป็นองค์ประกอบ เพราะอาหารมาจากพืชเป็นหลัก “พอใช้” มีพืชจำพวกนำมาทำเครื่องใช้ไม้สอย ให้มีเก้าอี้ มีฟืนไม้ มีถ่าน สานตะกร้า สานกระบุง สานเสื่อสาด “พออยู่” คือ ไม้ใช้ทำที่อยู่อาศัย จำพวกไม้ไผ่ ไม้สัก และประโยชน์อย่างที่ 4 “พอร่มเย็น” ทำให้เราร่มเย็น ลดโลกร้อน ฝนฟ้าอากาศฝนตกต้องตามฤดูกาล ซึ่ง 4 อย่างนี้จะทำให้ตนเองและครอบครัวมีความสุข แต่ถ้าเรา “ทำบุญทำทาน” ผลก็จะทำให้สังคมมีคุณธรรมจริยธรรม มีจิตใจที่ดีงาม เกรงกลัวต่อการทำบาป ทั้งการ “ทำบุญ” กับพระ ทำบุญกับนักบวช ทำบุญกับศาสนาตามความเชื่อที่เรานับถือก็จะทำให้มีคนคอยดูแลกันและกันคอยอบรมสั่งสอน รักษาประเพณีวัฒนธรรมไว้ในสังคม ทำให้สังคมมีความสุข “ทำทาน” แบ่งปันให้เพื่อนบ้าน ให้คนยากไร้ ให้คนเดือดร้อน บนพื้นฐานพอประมาณ คือ ไม่ทำให้ตนเองเดือดร้อน มันก็จะเกิดความสุขที่เหนือกว่าความสุขในครอบครัว ก็คือการทำให้สังคมมีความสุข เพราะเกิด “เมตตาธรรมค้ำจุนโลก” ด้วยความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ด้วยความเสียสละ นอกจากนี้ ที่เหลือกินเหลือใช้ก็ต้องรู้จักถนอมอาหาร เพราะผลผลิตที่ออกมา กว่าจะออกมาใช้ระยะเวลานาน หรือบางทีก็สุกไปก่อน ยังกินไม่หมด เช่น กล้วย ในระยะสั้นทำกล้วยบวชชี ทำกล้วยเชื่อม ระยะยาวทำกล้วยตาก หรือทำกล้วยผงใช้แทนข้าวแทนยาลดกรดไหลย้อน ด้วยการเอามาตากให้แห้งแล้วป่นให้เป็นผง และที่เหลือก็ใช้หารายได้ ซึ่งพี่สุมาลี คุลิหาได้นำผลผลิตจากโคก หนอง นา ไปจำหน่ายจนมีรายรับเป็นรายได้รายวัน รายเดือน รายปี แต่สิ่งที่ต้องเพิ่มพูน เรื่องใหญ่คือจะต้องทำยังไงให้เกิดการรวมกลุ่มกัน เช่นที่จังหวัดเพชรบูรณ์ มีการรวมกลุ่ม ภาคีเครือข่ายโคก หนอง นา โดยตกลงกันว่าจะปลูกพืชผักสวนครัวอย่างน้อย 2 อย่างที่เป็นชนิดเดียวกันที่ตรงกับตลาดต้องการ โดยได้ติดต่อเลมอนฟาร์ม ซึ่งมุ่งเน้นการปลูกผักปลอดสารพิษ แล้วรวมกลุ่มกันไปขาย จนกลายเป็นว่าทุกวันนี้ ปลูกพืชที่ตกลงกันในกลุ่มทุกบ้าน แล้วเก็บผลผลิต เอาไปส่ง กลายเป็นหมู่บ้านนี้มีส่วนแบ่งทางการตลาด (Market Share) จากเลมอนฟาร์มกว่า 12% ซึ่งทำให้เกิดประโยชน์คือ 1) ชาวบ้านไม่ต้องหาตลาด 2) ชาวบ้านได้การประกันราคาที่เป็นธรรม และผู้ประกอบการขนาดใหญ่คือ Modern Trade ก็ไม่ต้องหาผลผลิต เพราะหมู่บ้านนี้ไปส่งให้เรียบร้อย จนปัจจุบันกลุ่มนี้สามารถซื้อรถห้องเย็นขนผักไปส่งในกรุงเทพฯ ได้เอง” นายกองเอก สุทธิพงษ์ฯ กล่าวเพิ่มเติม
นายกองเอก สุทธิพงษ์ กล่าวต่ออีกว่า วันนี้ต้องช่วยกันคิดว่าทำอย่างไรให้เกิดการรวมกลุ่มให้มีพลัง เกิดพลังต่อรองด้านการตลาด พลังในการสร้างฐานะให้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น “เดินทีละก้าว กินข้าวทีละคำ” ทำพื้นฐานให้พอเพียง ซึ่งทุกขั้นตอนนี้สามารถเกิดขึ้นได้พร้อมกัน ต้องไปช่วยกันชักชวน ไปช่วยกันบอกให้พี่น้องในหมู่บ้านช่วยกัน รวมกลุ่มด้วยคนตัวเล็ก ๆ จะทำให้เกิดพลังที่ยิ่งใหญ่ โดยขอให้ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานีและนายอำเภอเมืองอุดรธานี ส่งเสริมให้เกิดการรวมกลุ่ม ตั้งแต่ 10 บ้าน ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม รวมทั้งร่วมกับศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนอุดรธานี ชวนชาวบ้านที่ไม่มีที่มีทางไปร่วมกันปลูกกล้วย ปลูกไม้ให้ผลผลิตในช่วงฤดูฝน ทั้งพืชสมุนไพร พืชอายุสั้น หรือใครจะเลี้ยงกบ เลี้ยงปลา ในพื้นที่โคก หนอง นา ของศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนอุดรธานี และให้ชาวบ้านเก็บผลผลิตเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชน ซึ่งจะทำให้พื้นที่ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนได้ช่วยเหลือประชาชน และเป็นพื้นที่แหล่งเรียนรู้ในการศึกษาดูงานของประชาชนกลุ่มต่าง ๆ รวมถึงภาคีเครือข่ายโคก หนอง นา ด้วย
นายกองเอก สุทธิพงษ์ กล่าวในช่วงท้ายว่า นอกจากนี้ ประการที่ 1 ถ้าเรามีกำลัง ต้องทำหลุมขนมครก หรือ หนองน้ำเพิ่ม เพื่อให้มีพื้นที่กักเก็บน้ำ ประการที่ 2 สิ่งที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงสอนไว้ว่า ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่างมาจากไม้ 5 ระดับ ไม้สูง ไม้กลาง ไม้เตี้ย ไม้เลื้อยเรี่ยดิน และไม้หัวใต้ดิน ควรปลูกให้ครบสร้างป่าที่สมบูรณ์รวมถึงไม้มรดก พวกต้นยางนา ต้นตาล เพราะยังมีน้อย และประการสุดท้าย ให้มีไก่พื้นเมือง ไก่ไข่ ซึ่งในปัจจุบันกระทรวงมหาดไทยได้แจ้งไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ส่งเสริมให้เด็กนักเรียนทุกคน และพี่น้องประชาชน ได้รับประทานไข่ไก่หรือไข่เป็ดอย่างน้อยวันละ 2 ฟอง เพื่อความสมบูรณ์ทางโภชนาการ และเกิดความมั่นคงทางอาหาร ควบคู่การปลูกพืชผักสวนครัว ตามแนวพระราชดำริด้านการเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหารของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี “บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง” และตลอดจนถึงธนาคารน้ำใต้ดิน เพื่อให้พื้นที่เกิดความชุ่มชื้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะสัมฤทธิ์ผลได้ ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอ ต้องเป็นผู้นำการบูรณาการและหล่อหลอมพลังภาคีเครือข่ายในพื้นที่ ช่วยกันหนุนเสริมและขับเคลื่อนให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ด้วยการร่วมคิดและพูดคุย ร่วมวางแผน ร่วมทำอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดการร่วมรับประโยชน์ อันจะทำให้พี่น้องประชาชนได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน
นางสุมาลี คุลิหา กล่าวว่า ตั้งแต่ทำโคก หนอง นา มา เมื่อก่อนทำแต่นาอย่างเดียว พอได้โครงการโคก หนอง นา มา รู้สึกว่าชีวิตดีขึ้นทุกด้าน ได้ปลูกผัก ได้ทำอะไรหลายอย่าง ได้กิน ได้แบ่งปัน ทำบุญ เหลือก็ได้ขาย สมาชิกในกลุ่มก็ได้แลกเปลี่ยนกัน สนับสนุนกันมาตลอด ผู้หลักผู้ใหญ่ก็มาเยี่ยมเรื่อย ๆ ดีใจ ภูมิใจ พูดไม่ถูก ตื้นตันใจ เมื่อก่อนเลี้ยงหมูป่า หมูขาว แต่หมูราคาตกและเป็นโรค จึงหยุดเลี้ยง ทุกวันนี้ มีไก่ มีวัว มีหอย กุ้ง ปลาหมุนเวียนกัน ได้ของขายทุกวัน มีเงินทั้งรายวัน รายเดือน รายปี แต่ก่อนเป็นหนี้เยอะ เพราะเมื่อก่อนทำแต่นา ค่าปุ๋ย ค่ายาแพง เลยหันมาปลูกมันกับปลูกอ้อยก็ไม่เหลือเหมือนเดิม จากนั้นไปซื้อผักมาขาย ขายหมดก็ได้กำไร ขายไม่หมดก็ไม่ได้กำไร พอผู้ใหญ่บ้านประกาศมีโครงการโคก หนอง นา จึงสมัครและไปอบรมกับศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนอุดรธานี มาตอนนี้หมดหนี้หมดสินแล้ว มีความสุขกาย สุขใจมาก ยินดีเห็นเจ้าหน้าที่มาลงเยี่ยมตลอด ทำให้มีขวัญกำลังใจและจะต่อสู้ต่อไปตลอด ไม่ยอมถอย เพราะท่านสนับสนุนมาตลอด ท่านนายอำเภอ ปลัดอาวุโส พัฒนากร แวะมาเยี่ยมอยู่เรื่อย ๆ ดีใจภูมิใจที่ได้เข้าร่วมโครงการนี้ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทำให้มีกิน เหลือกินก็ได้เก็บ แจกจ่าย ดีใจว่าโครงการนี้ยั่งยืน เมื่อก่อนต้องไปซื้อเขาแต่ไม่เหลืออะไร หาเงิน ทำแค่ไหนถ้าไม่เหลือเพราะต้องซื้อ มาตอนนี้ไม่ได้ซื้อ วันนึงขายผักได้ 400-500 บาท ก็ได้เก็บ ไม่มีอะไรต้องจ่าย เพราะเป็นของในแปลงตัวเอง
นายประพันธ์ ศรีอินทร์ ผู้ใหญ่บ้านโนนสูงภู่ทอง หมู่ 11 ตำบลบ้านจั่น กล่าวว่า ตนสมัครเข้าร่วมโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคก หนอง นา แปลงโคก หนอง นา บ้านจั่น ซึ่งตนได้รับการสนับสนุนงบประมาณ 1 ไร่ แต่ด้วยส่วนตัวตนมีความศรัทธาและหลงใหลในหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่อยู่ก่อนแล้ว จึงลงมือทำทีละเล็กละน้อย จนครบพื้นที่ของตนทั้ง 6 ไร่ จนทุกวันนี้มีพี่น้องประชาชนเจ้าของที่ดินแปลงข้าง ๆ อีก 4 แปลง ก็ทำตาม ส่งผลทำให้ปัจจุบันชาวบ้านอยู่ดี กินดี มีพืชผักสวนครัว ไม่ต้องซื้อ มีมะเขือ ข่า ตะไคร้ กล้วย มะพร้าว มะม่วง และมีปลาไว้บริโภคเยอะมาก จนทานไม่หมด ซึ่งถือเป็นความยั่งยืนอย่างแท้จริง.-สำนักข่าวไทย