กรุงเทพฯ 12 มี.ค. – กทม.แจงพัฒนาต่อเนื่องคลองโอ่งอ่าง จากแหล่งท่องเที่ยวที่มีอัตลักษณ์ สู่ย่านสร้างสรรค์ครอบคลุมพื้นที่ท่องเที่ยวฝั่งพระนคร-ฝั่งธน
นายเอกวรัญญู อัมระปาล ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และโฆษกกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงภาพรวมแผนการพัฒนาพื้นที่คลองโอ่งอ่าง โดยการบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานของกรุงเทพมหานคร หลายหน่วยงาน อาทิ สำนักการโยธา สำนักการระบายน้ำ สำนักสิ่งแวดล้อม สำนักวัฒนธรรม กีฬาและการท่องเที่ยว สำนักพัฒนาสังคม สำนักการวางผังและพัฒนาเมือง สำนักงานเขตพื้นที่ เพื่อให้คลองโอ่งอ่างเป็นย่านสร้างสรรค์ เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีคุณค่า และมีความเป็นเอกลักษณ์ สามารถสร้างเศรษฐกิจให้กับประชาชนในพื้นที่ได้
“ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้ให้ความสำคัญกับเรื่องของการทำให้ชุมชนเข้มแข็ง ควบคู่ไปกับการทำให้ผู้ประกอบการ ผู้ค้าสามารถทำการค้าได้อย่างยั่งยืน โดยในพื้นที่คลองโอ่งอ่าง เป็นย่านที่มีอัตลักษณ์ของตนเอง เป็นแหล่งสินค้าเฉพาะด้าน เช่น ของเล่น ของที่ระลึก ซึ่งหากสามารถเชื่อมโยงผู้ประกอบการย่านปากคลอง ร้านดอกไม้ และหาความร่วมมือกับวิทยาลัยเพาะช่าง ซึ่งมีความเชี่ยวชาญทางด้านศิลปะ แล้วนำมาหลอมรวมกัน สร้างเป็นกิจกรรมในพื้นที่ จะทำให้คลองโอ่งอ่างเป็นคลองแห่งความโรแมนติก ผู้มาเที่ยวชมสามารถเลือกซื้อสินค้า ชมงานศิลป์ และชื่นชมความงามของดอกไม้ได้พร้อมกัน เบื้องต้นมอบโจทย์ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการ ได้แก่ การประสานหน่วยงานทั้งภายในและหน่วยงานภายนอกของกรุงเทพมหานครเพื่อจัดทำแผนการทำให้คลองโอ่งอ่าง เป็นแลนด์มาร์คสถานที่ท่องเที่ยวที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว การสร้างความปลอดภัยให้นักท่องเที่ยว และมีสะดวกในการเดินทาง การสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการเพื่อให้เกิดความร่วมมือที่เข้มแข็ง และการประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องเพื่อกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวมั่นใจได้ว่าจะได้รับประสบการณ์การท่องเที่ยวในแง่มุมที่แตกต่าง ไม่ซ้ำกับจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวอื่น ๆ”
นอกจากการพัฒนาด้านกายภาพพื้นที่คลองโอ่งอ่างแล้ว กรุงเทพมหานครยังมีแผนเชื่อมต่อการพัฒนาร่วมกับพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อให้เกิดเป็นภาพใหญ่ ภายใต้แผนการพัฒนาพื้นที่เชื่อมต่อสวนลอยฟ้าเจ้าพระยา (ฝั่งพระนคร) ซึ่งจะพัฒนาโครงข่ายพื้นที่สีเขียวกับพื้นที่ท่องเที่ยวสำคัญ ปรับปรุงการเข้าถึงพื้นที่ริมน้ำ ส่งเสริมการเดินเท้าและการใช้งานจักรยาน การฟื้นฟูย่านที่มีเอกลักษณ์เพื่อสืบทอดแอกลักษณ์ของพื้นที่ ควบคู่ไปกับการพัฒนาและอนุรักษ์ย่านปากคลองตลาด ในขณะเดียวกันจะดำเนินการตามแผนการพัฒนาพื้นที่ใต้สะพานพระปกเกล้า – สะพานปฐมบรมราชานุสรณ์ และพื้นที่ต่อเนื่อง เชื่อมต่อย่านประวัติศาสตร์ทั้งฝั่งพระนครและฝั่งธนบุรี ด้วยสวนลอยฟ้าเจ้าพระยา ซึ่งประชาชนและนักท่องเที่ยวที่เดินทางผ่านจะได้เห็นแม่น้ำเจ้าพระยาในอีกมุมมองหนึ่งด้วย.-417-สำนักข่าวไทย