12 มีนาคม 2566
แปลและเรียบเรียงบทความโดย : อดิศร สุขสมอรรถ
ตรวจทานและพิสูจน์อักษร : คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล
ข้อมูลที่ถูกแชร์ :
มีข้อมูลเท็จเผยแพร่ทางสื่อสังคมออนไลน์และเว็บไซต์ในต่างประเทศ เมื่อ ริชาร์ด เฮิร์ชแมน นักแต่งศพ (Embalmer) จากรัฐแอละแบมา สหรัฐอเมริกา อ้างว่าสาเหตุที่มีผู้เสียชีวิตจากลิ่มเลือดอุดตันมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เป็นผลจากอาการลิ่มเลือดอุดตันซึ่งเป็นอาการข้างเคียงจากวัคซีนโควิด-19
บทสรุป :
- การติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เพิ่มความเสี่ยงการเกิดลิ่มเลือดอุดตัน ไม่ว่าในผู้ป่วยหนักหรือผู้ป่วยปานกลาง-เบา
- วัคซีนโควิด-19 ชนิด Viral Vector เพิ่มความเสี่ยงการเกิดลิ่มเลือดอุดตันมากกว่าวัคซีนชนิดอื่น แต่ยังถือว่าน้อยกว่าเชื้อโควิด-19
FACT CHECK : ตรวจสอบข้อเท็จจริง :
ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (CDC) ประเมินว่า แต่ละปีมีชาวอเมริกันป่วยจากภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำส่วนลึก (Deep Vein Thrombosis : DVT) และภาวะลิ่มเลือดอุดตันในปอด (Pulmonary Embolism : PE) รวมกันถึง 9 แสนราย และมีอัตราผู้เสียชีวิตปีละ 1 แสนราย
โดยช่วงปี 2020 ที่ไวรัสโควิด-19 เริ่มแพร่ระบาด พบอัตราการเสียชีวิตด้วยภาวะลิ่มเลือดอุดตันเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่มีอาการรุนแรง
แม้จะพบหลักฐานว่า วัคซีนโควิด-19 ชนิด Adenovirus Vector เพิ่มความเสี่ยงการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันมากกว่าคนทั่วไป แต่ถือว่าอยู่ในอัตราที่ต่ำมาก โดยพบภาวะลิ่มเลือดอุดตันหลังรับวัคซีนโควิด-19 ของบริษัท Johnson & Johnson เพียง 4 รายจาก 1 ล้านโดส ส่วนภาวะลิ่มเลือดอุดตันจากวัคซีนชนิด mRNA ก็มีสัดส่วนที่น้อยกว่ามาก
งานวิจัยปี 2021 ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดพบว่า แม้วัคซีนโควิด-19 จะเพิ่มความเสี่ยงการเกิดภาวะหลอดเลือดดำในสมองอุดตัน (Cerebral venous thrombosis, CVT) มากกว่าปรกติประมาณ 10 เท่า แต่การติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เพิ่มความเสี่ยงมากกว่าถึงประมาณ 100 เท่า
ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า ภาวะลิ่มเลือดอุดตันที่พบมากขึ้น น่าจะมีสาเหตุจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 มากกว่าอาการไม่พึงประสงค์จากวัคซีนโควิด-19 ที่พบได้น้อยมาก
งานวิจัยภายหลังยังพบว่า ภาวะลิ่มเลือดอุดตันไม่ได้เกิดกับผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการรุนแรงเท่านั้น แต่ยังพบในกลุ่มผู้ป่วยอาการปานกลางและอาการเบาได้เช่นกัน
ข้อมูลพบว่าผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการรุนแรง มีความเสี่ยงเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตัน 20%-40% ส่วนผู้ป่วยโควิด-19 อาการเบาถึงปานกลาง มีความเสี่ยงเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตัน 3%-9%
ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัย Johns Hopkins Medicine อธิบายว่า ภาวะลิ่มเลือดอุดตันที่เป็นผลจากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 มักจะพบที่ปอดและบริเวณขาเป็นส่วนใหญ่
อย่างไรก็ดี ยังพบลิ่มเลือดอุดตันจากการติดเชื้อโควิด-19 ที่อวัยวะส่วนอื่น เช่น สมองและไต เพิ่มความเสี่ยงภาวะลิ่มเลือดสมองอุดตันและภาวะไตวาย
นอกจากนี้ ผลเสียต่อหลอดเลือดผิวหนัง ยังก่อให้เกิดอาการที่เรียกว่า COVID Toe หรือการเกิดผื่นและอาการบวมบริเวณนิ้วมือและนิ้วเท้าได้อีกด้วย
ข้อมูลอ้างอิง :
https://www.politifact.com/factchecks/2022/feb/09/newswars/no-clear-evidence-covid-19-vaccines-are-responsibl/
https://healthfeedback.org/claimreview/mike-adams-flawed-analysis-clot-embalmer-richard-hirschman-doesnt-demonstrate-link-between-blood-clots-and-covid-19-vaccines-epoch-times/
https://healthfeedback.org/claimreview/photos-blood-clots-embalming-dont-show-link-with-covid-19-vaccines-blood-clotting-risk-higher-after-covid-19/
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter