กรุงเทพฯ 6 ส.ค.- รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เสนอ ป.ป.ช.ยื่นอุทธรณ์คดีสลายม็อบพันธมิตรฯ ปี 51 ระบุเมื่อคำพิพากษาถึงที่สุด จะทำให้มีข้อยุติ และเป็นที่ยอมรับของทุกภาคส่วนในสังคม
นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณี คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จะใช้สิทธิ์อุทธรณ์คำพิพากษาศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ยกฟ้องคดีสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ปี 2551 หรือไม่ว่า เมื่อมีคำพิพากษาออกมาย่อมมีผู้เห็นด้วย และไม่เห็นด้วยเป็นเรื่องธรรมดา เพราะฉะนั้นการที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ตาม มาตรา 195 เปิดโอกาสให้มีการอุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้ภายใน 30 วัน ทางป.ป.ช.ก็ควรใช้สิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญอุทธรณ์เพื่อให้มีคำพิพากษาที่ถึงที่สุดอันจะทำให้ทุกฝ่ายยอมรับในคำพิพากษาตามกระบวนการยุติธรรม
นายองอาจ กล่าวว่า การใช้สิทธิ์อุทธรณ์ของป.ป.ช.น่าจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่างๆ ทั้งเพื่อรักษาสิทธิ์ที่พึงมีตามรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ทุกภาคส่วนในสังคมหมดสิ้นข้อสงสัย เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งฝ่ายผู้ชุมนุมที่ถูกกระทำจนได้รับบาดเจ็บ เสียชีวิต และฝ่ายที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้กระทำทั้งระดับผู้บริหารประเทศ และผู้ปฏิบัติงาน และเพื่อให้เกิดความกระจ่างชัด ไม่มีข้อเคลือบแคลงสงสัยต่อการทำหน้าที่ของป.ป.ช.เพราะที่ผ่านมา ป.ป.ช.ชุดที่มี พล.ต.อ. วัชรพล ประสารราชกิจ เป็นประธาน ได้มีมติเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2559 ว่า ป.ป.ช.มีสิทธิ์ขอถอนฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จนมีการตั้งคณะทำงานพิจารณาถอนฟ้อง เพื่อพิจารณาหลักฐานใหม่ตามที่จำเลยยื่นเรื่องขอความเป็นธรรม ถึงแม้ในที่สุดป.ป.ช.ไม่ได้ถอนฟ้อง แต่การพิจารณาจะถอนฟ้องคดีของป.ป.ช.ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์พอสมควร
“การยื่นอุทธรณ์ของป.ป.ช.จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมอย่างมาก เพราะเมื่อมีคำพิพากษาที่ถึงที่สุดออกมาจะทำให้เกิดข้อยุติ และเป็นที่ยอมรับของทุกภาคส่วนในสังคม นอกจากนั้นยังทำให้เห็นว่าป.ป.ช.ทำหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญอย่างเต็มที่ ช่วยทำให้เกิดภาพลักษณ์ที่ดีต่อป.ป.ช.แต่ถ้าป.ป.ช.ไม่ยื่นอุทธรณ์ เชื่อว่าผู้คนในสังคมจะเกิดคำถาม เกิดความเคลือบแคลงสงสัยในการทำหน้าที่ของป.ป.ช.ซึ่งไม่เกิดผลดีต่อป.ป.ช.และสังคมโดยรวมแต่อย่างใด”นายองอาจ กล่าว .-สำนักข่าวไทย