กรุงเทพฯ 9 มี.ค.-เอกชนมองค่าไฟฟ้างวดใหม่ลดลงได้อีก ย้ำรัฐบาลควรรีไฟแนนซ์หนี้ค่าไฟให้ กฟผ.จะได้ไม่ส่งภาระเพิ่มค่าไฟในระบบ
นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยกล่าวถึงค่าไฟฟ้า งวด 2/67 (พ.ค.-ส.ค.) ที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กำลังเปิดรับฟังความคิดเห็น3อัตราโดยต่ำสุดคือราคาไม่เปลี่ยนแปลงจากงวดปัจจุบันที่ 4.18 บาท/หน่วย ว่า กกพ.มีการเปิดเผยข้อมูลมีมากขึ้น แต่ยัง
ขาดนโยบายเชิงรุกในการลดค่าไฟฟ้าที่ต้นเหตุ และไทยไม่ควรพึ่งพิงโชคชะตา จากราคาพลังงานโลกที่ลดลง โดยไม่เร่งสร้างภูมิคุ้มกันของประเทศ
นอกจากนี้ฝ่ายนโยบายควรทบทวนลดค่าไฟลงอีกเล็กน้อย เช่น 4.00 -4.10 บาท/หน่วย เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ และลดภาระค่าครองชีพของประชาชนและภาครัฐในงบประมาณที่ อุ้มกลุ่มเปราะบางในช่วงที่อากาศร้อนและประชาชนต้องใช้ปริมาณไฟฟ้ามากขึ้นและควรเร่ง นโยบายเชิงรุกโดยขอเสนอความเห็นดังนี้
1)จากปัญหาค้างหนี้ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศ(กฟผ.)ที่รับภาระค่าต้นเชื้อเพลิงให้ประชาชนก่อนหน้านี้ราว1 แสนล้านบาท แต่ทำไม กกพ.หรือรัฐยังไม่มีการพิจารณามาตรการรีไฟแนนซ์มาช่วย
2)ปริมาณ ก๊าซธรรมชาติ(NG)ในอ่าวไทย ลดลงเหลือ 40% (เดิม 42%) ทั้งๆ ที่แหล่งเอราวัณแตะ 800 ล้านหน่วย/วันทำไมต้องเพิ่มการนำเข้า ก๊าซธรรมชาติเหลวหรือLNG ที่แพงกว่า อ่าวไทยอีก 3%
3)ควรทบทวนต้นทุนที่แฝงอยู่ใน NG เช่น ค่าผ่านท่อทั้งระบบ, ทบทวนราคา NG ที่ขายโรงไฟฟ้าทุกประเภท( SPP , IPS )ให้เป็นราคาเดียวกับระบบไฟฟ้าขนาดใหญ่ IPP
4)ภาครัฐควรเร่งรัดนโยบายส่งเสริม Solar เสรี และ Solar ภาคประชาชน เพื่อส่งเสริมพลังงานสะอาด
รวมทั้งระบบ ด้วยราคาที่จูงใจ ที่รับซื้อคืน มากกว่า Net billing ที่ใช้ในปัจจุบัน และลดการนำเข้า LNG อีกทั้งการปลดล็อค ใบอนุญาต รง.4 ไม่ใช่แค่ Solar Rooftop ที่เกิน 1 MW แต่ควรรวมถึง Solar Farm และSolar Floating ด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงายว่า กกพ.ได้ชี้แจงถึงการเร่งรัดการนำเข้าแอลเอ็นจีเพิ่มขึ้นเนื่องจากราคาในขณะนี้อยู่ในเกณฑ์ต่ำ, ในขณะที่ก๊าซฯจากแหล่งอ่าวไทยโดยรวมผลิตได้น้อยลงรวมไปถึงก๊าซจากเมียนมาร์จึงต้องเร่งนำเข้าLNGเพิ่มขึ้นและเป็นการสำรองก๊าซรองรับการใช้ไฟหน้าร้อนที่เพิ่มขึ้นด้วย.-511.-สำนักข่าวไทย