กรุงเทพฯ
2 ส.ค. – ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน
(กบง.) ซึ่งมี พล.อ.อนันตรพร กาญจนรัตน์ รมว.พลังงานเห็นชอบใช้เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงบัญชีแอลพีจี
อุดหนุนราคาขายปลีกในประเทศเดือนสิงหาคม 2.7559 บาท/กก. เพื่อทำให้ราคาอ้างอิงเดือนนี้หลังรัฐบาลประกาศลอยตัวอย่างสมบูรณ์แบบอยู่ที่ราคาเดิม 20.49 บาท/กก.
นายทวารัฐ
สูตะบุตร ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า ราคาตลาดโลก (CP) เดือนสิงหาคม 2560 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 85 เหรียญสหรัฐ/ตัน มาอยู่ที่ระดับ 440 เหรียญสหรัฐ/ตัน นับเป็นการปรับตัวสูงสุดหน้าร้อนเป็นครั้งแรกในรอบ
5 ปี ซึ่งปกติจะเป็นฤดูกาลที่ราคาลดลง แล้วจะเพิ่มขึ้นช่วงฤดูหนาวตั้งแต่เดือน
พฤศจิกายน ดังนั้น ในช่วงเปลี่ยนผ่านราคาส่งเสริมการลอยตัว
กบง.จึงเห็นว่าควรอุดหนุนไปก่อน เพื่อให้ตลาดมีการแข่งขันสมบูรณ์มากยิ่งขึ้นและทำให้ผู้นำเข้าสามารถแข่งขันกับผู้ผลิตในประเทศ
คือ โรงแยกก๊าซธรรมชาติ บมจ.ปตท. ที่มีต้นทุนต่ำกว่าได้
ทั้งนี้
กบง.ให้ปรับเพิ่มอัตราเงินชดเชยจากกองทุนน้ำมันฯ 2.6352 บาท/กก. จากเดิมกองทุนน้ำมันฯ ชดเชยที่ 0.1207 บาท/กก. เป็นชดเชย 2.7559 บาท/กก. ซึ่งผลจากการปรับอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ ดังกล่าว
ทำให้กองทุนน้ำมันฯ บัญชีแอลพีจี มีรายจ่ายสุทธิอยู่ที่ 511 ล้านบาท/เดือน (โดยกองทุนฯ
ยังมีรายรับจากการเก็บเงินจากโรงแยกก๊าซฯ ปตท. 2.28 บาท/กก. หรือประมาณ 426
ล้านบาท) และฐานะสุทธิของบัญชีนี้วันที่ 3 กรกฎาคม 2560 อยู่ที่ 6,367 ล้านบาท
“กลไกตลาดในอนาคต เชื่อว่าเมื่อมีผู้ค้าเกิดขึ้นหลายรายมีการนำเข้ามากขึ้นตามแผนส่งเสริมการนำรายเสรี
การแข่งขันจะมากขึ้นเป็นผลดีต่อผู้บริโภค และหากความผันผวนของราคาตลาดโลกลดลง
การอุดหนุนก็อาจไม่จำเป็น ซึ่ง กบง.จะติดติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
โดยความผันผวนครั้งนี้ก็เป็นไปตามทิศทางราคาน้ำมันโลกที่เกิดจากกลุ่มโอเปก เช่น
ซาอุดีอาระเบียลดกำลังผลิตน้ำมันและมีการคว่ำบาตรทางการค้าหลายประเทศ เช่น
เวเนซุเอลา รัสเซีย อิหร่านเป็นต้น” นายทวารัฐ กล่าว
นอกจากนี้ ที่ประชุม กบง.ยังเห็นชอบปริมาณการรับซื้อไฟฟ้ารายภูมิภาคตามศักยภาพของแต่ละพื้นที่
สำหรับการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ FiT สำหรับผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กแบบ SPP Hybrid Firm จากเป้าหมายการรับซื้อ 300 เมกะวัตต์
และเห็นชอบให้ขยายระยะเวลากำหนดวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (SCOD) ของโครงการ SPP Hybrid Firm จากเดิมภายในปี
2563 เป็นภายในปี 2564 โดยแยกพื้นที่สรุปดังนี้
ภาค |
เป้าหมาย (MW) |
ภาคกลาง |
20 |
กรุงเทพฯ และปริมณฑล |
15 |
ภาคตะวันออก |
20 |
ภาคใต้ |
100 |
ภาคตะวันตก |
20 |
ภาคเหนือ |
65 |
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ |
60 |
รวม |
300 |
ทั้งนี้
หากปริมาณการรับซื้อไฟฟ้าฯ ภูมิภาคใดไม่ครบตามเป้าให้ กกพ.สามารถนำส่วนที่เหลือไปเปิดรับซื้อในภูมิภาคอื่นได้
โดยให้คำนึงถึงราคารับซื้อไฟฟ้าที่ต่ำที่สุดและศักยภาพของสายส่ง (Grid
Capacity) ที่รองรับได้เป็นสำคัญ และสำหรับการเปิดรับซื้อไฟฟ้าฯ
โครงการ SPP Hybrid Firm ครั้งนี้จะยกเว้นการรับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชน
แต่ให้สามารถใช้เชื้อเพลิง RDF เป็นเชื้อเพลิงร่วมได้
ที่ประชุม
กบง.รับทราบรายงานความคืบหน้าการดำเนินการตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย
พ.ศ. 2558-2579 (PDP 2015) ในช่วง 5 เดือนแรกของปี
2560 โดยพบว่าสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าค่อนข้างใกล้เคียงกับแผน
โดยในส่วนของก๊าซธรรมชาติลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 61 ส่วนพลังงานหมุนเวียนอยู่ที่ร้อยละ
8 ซึ่งต่ำกว่าแผนเล็กน้อย ทั้งนี้
เนื่องจากปริมาณการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมและแสงอาทิตย์ไม่สามารถจ่ายไฟฟ้าได้ตามเป้า
ส่งผลทำให้การผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน และซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน
มีสัดส่วนสูงกว่าแผน และสำหรับปริมาณการผลิตไฟฟ้าจริงในระบบของ 3 การไฟฟ้าอยู่ที่
81,867 GWh ซึ่งต่ำกว่าแผนประมาณร้อยละ
5 ทั้งนี้ เป็นผลมาจากสภาพอากาศที่มีฝนมากกว่าปกติ
ทำให้ปริมาณความต้องการใช้ไฟฟ้าในช่วงดังกล่าวไม่สูงมากนัก
รวมทั้งมีสัญญาณที่ประชาชนเริ่มผลิตไฟเองใช้เองมากขึ้น. –สำนักข่าวไทย