ศาลฎีกาฯ 2 ส.ค.- ศาลฎีกาพิพากษายกฟ้อง “สมชาย-พล.อ.ชวลิต-พล.ต.อ.พัชรวาท-พล.ต.ท.สุชาติ” ในคดีสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ ปี 51 ระบุเป็นการปฏิบัติตามขั้นตอน และไม่มีเจตนาพิเศษ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจไปทำร้ายผู้ชุมนุมให้ได้รับอันตรายแก่ชีวิตและร่างกาย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (2 ส.ค.) ตุลาการศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษาคดีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี จำเลยที่ 1 พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกรัฐมนตรี จำเลยที่ 2 พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จำเลยที่ 3 และ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล จำเลยที่ 4 ในความผิดฐานร่วมกันเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ 83 จากเหตุเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 ที่รัฐบาลนายสมชาย มีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่ปิดล้อมทางเข้ารัฐสภา เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย และบาดเจ็บ 471 ราย
คดีนี้ศาลเริ่มไต่สวนนัดแรก เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2559 มีพยานเข้าไต่สวนทั้ง 2 ฝ่าย รวม 47 ปาก เป็นพยานฝ่ายโจทก์ 15 ปาก ฝ่ายจำเลยทั้ง 4 รวม 32 ปาก ใช้เวลาไต่สวน 21 นัด
โดยศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1-4 เนื่องจากเหตุการณ์วันที่ 7 ตุลาคม 2551 ผู้ชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้ปิดล้อมรัฐสภา บริเวณประตูเข้า-ออกทุกทาง เพื่อไม่ให้คณะรัฐมนตรีเข้าไปแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 176 ถือเป็นการขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ และไม่เป็นการชุมนุมที่ได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ
ตั้งแต่ช่วงเช้าถึงช่วงค่ำ ปรากฏว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ปฏิบัติตามขั้นตอนของแผนรักษาความสงบ หรือ กรกฎ 48 โดยใช้มาตรการควบคุมฝูงชนจากเบาไปหาหนัก เท่าที่จะทำได้ในสถานการณ์ขนาดนั้น และเป็นไปตามหลักปฏิบัติสากล เนื่องจากกลุ่มผู้ชุมนุมมีการปลุกระดม ใช้หนังสติ๊ก ขวดน้ำ หัวนอต ขว้างปาใส่เจ้าหน้าที่ และปิดล้อมอาคารรัฐสภา
นอกจากนี้ ยังมีการปลุกระดมของกลุ่มผู้ชุมนุม และมีความพยายามจะบุกเข้าไปในรัฐสภา เหตุการณ์เริ่มมีความรุนแรง เจ้าหน้าที่จึงได้ประกาศผ่านรถโมบายเป็นระยะ เพื่อให้ผู้ชุมนุมเปิดทาง แต่ไม่เป็นผล เจ้าหน้าที่จึงใช้โล่ในการผลักดัน เนื่องจากผู้ชุมนุมเข้าใกล้แนวของเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่ผู้ชุมนุมยังคงใช้สิ่งของขว้างปาใส่เจ้าหน้าที่ และก่อนเจ้าหน้าที่จะยิงแก๊สน้ำตา ได้มีประสานกรุงเทพมหานครขอรถฉีดน้ำ แต่ได้รับแจ้งว่า รถอยู่ภายในอาคารรัฐสภา และต้องรอคำสั่งของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเท่านั้น ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องใช้แก๊สน้ำตา จึงถือว่าไม่ใช่การชุมนุมโดยสงบ
จากการเบิกความพยานฝ่ายโจทก์และจำเลย ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับแก๊สน้ำตา มีความเห็นที่แตกต่างกันของผลจากแก๊สน้ำตา แม้มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต แต่สถานการณ์ขนาดนั้น ยากที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจะประเมินได้ และเมื่อการชุมนุมยังไม่สงบ เจ้าหน้าที่ตำรวจยังมีหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติ เพื่อรักษาความสงบไม่ให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลและทรัพย์สินของทางราชการ อีกทั้งจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 4 ไม่อาจคาดได้ว่า แก๊สน้ำตาจะก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้ชุมนุมได้ และไม่มีเจตนาพิเศษ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจไปทำร้ายผู้ชุมนุมให้ได้รับอันตรายแก่ชีวิตและร่างกาย
ศาลจึงพิพากษาว่า จำเลยที่ 1, 3 และ 4 ไม่มีความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และไม่มีความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่มิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ขณะที่จำเลยที่ 2 ได้ลาออกจากตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี หลังผู้ชุมนุมปิดล้อมรัฐสภา.- สำนักข่าวไทย