รัฐสภา 14 กพ.-“ชูศักดิ์” ชี้ หลัง “ทักษิณ” พักโทษก็เป็นประชาชน ส่วนเพื่อไทยก็ทำหน้าที่รัฐบาลไป แต่ข้อเสนอแนะอาจทำให้พรรคเข้มแข็ง เชื่อไม่เป็นประเด็นนำไปสู่ความรุนแรง วิจารณ์ได้แต่ต้องอยู่ในครรลองกม. ไม่สร้างร้าวฉาน
นายชูศักดิ์ ศิรินิล รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีข้อสังเกตว่านายทักษิณ ชินวัตร ได้รับการพักโทษแล้วจะกลับมาเป็นศูนย์รวมอำนาจทางการเมืองอีกครั้งว่า น่าจะเป็นการวิเคราะของผู้ที่สนใจการเมือง ที่พิจารณาจากอดีตที่ผ่านมา แต่ขอยืนยันว่าพรรคเพื่อไทยทำหน้าที่ของเราโดยอิสระอย่างเต็มที่ เรามีผู้บริหาร หัวหน้าพรรคกรรมการบริหารพรรคทำหน้าที่ไป
ส่วนการพักโทษของนายทักษิณจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ทางการเมืองหรือไม่ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ไม่ถึงขนาดนั้น รัฐบาลทำหน้าที่ของตัวเองไป นายกรัฐมนตรีก็ทำหน้าที่อย่างเต็มที่ คงยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง อย่างที่มีการวิเคราะห์กัน ขณะนายทักษิณ อดีตนายกรัฐมนตรีก็ทำหน้าที่ของตัวเองในฐานะประชาชน ส่วนคนที่วิพากษ์วิจารณ์ก็พูดกันไป ซึ่งทางพรรคเพื่อไทยมีจุดยืนว่าวิพากษ์วิจารณ์กันได้แต่ทุกอย่างควรอยู่ในครรลองของกฎหมาย อย่าทำอะไรให้เกิดความแตกแยก ร้าวฉาน
“ที่ประชุมพรรควานนี้(13 ก.พ.) พูดชัดเจนว่าพรรคเพื่อไทยไม่นิยมความรุนแรง เพราะความรุนแรงไม่นำพาประเทศไปสู่ความเจริญก้าวหน้า ส่วนตัวผมไม่เชื่อว่าจะเกิดความรุนแรง เพราะปัจจุบันรัฐบาลประกอบด้วยหลายพรรค จากที่เคยเห็นไม่ตรงกัน ก็กลับมาทำงานร่วมกัน ซึ่งเงื่อนไขปัจจัยไม่เหมือนกับในอดีต” นายชูศักดิ์ กล่าว
ส่วนการกลับมาของนายทักษิณจะทำให้พรรคเพื่อไทยเข้มแข็งขึ้นหรือไม่ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ประสบการณ์ของนายทักษิณ ความรู้ความสามารถในอดีตที่ผ่านมา หากจะเสนอข้อแนะนำอะไรจะเป็นประโยชน์และทำให้พรรคเข้มแข็งขึ้น ต้องยอมรับว่านายทักษิณเป็นศูนย์รวมจิตใจของทุกคนในพรรคเพื่อไทย เพราะทำมาตั้งแต่สมัยพรรคไทยรักไทย พลังประชาชนจนมาถึงพรรคเพื่อไทย ก็เป็นศูนย์รวมจิตใจและเป็นกำลังใจให้พรรคเพื่อไทยด้วย แต่พรรคเพื่อไทยก็ต้องเข้มแข็งและยืนได้ด้วยความรู้ความสามารถของบุคลากรที่มีอยู่
ส่วนกรณีที่นายทักษิณได้รับการพักโทษจะทำให้มีความเห็นต่าง และถูกวิพากษ์วิจารณ์หรือไม่ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ให้เป็นเรื่องของกระบวนการยุติธรรม ขณะนี้ กระบวนการยุติธรรมก็ต้องเดินไป เราไม่ควรวิพากษ์วิจารณ์ว่าจะต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ที่ผ่านมาเรามักจะออกมาพูดและวิจารณ์ว่าต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ จึงทำให้เกิดความแตกแยกตามมา ทั้งนี้ เราเห็นว่าเป็นเรื่องส่วนบุคคลที่นายทักษิณมีทีมกฎหมาย ที่ว่ากันไป ตามกระบวนการ
นายชูศักดิ์ กล่าวถึงกรณีจะเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.) มาจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ ว่า ขณะนี้ทราบว่าประธานสภาฯ ส่งเรื่องให้ฝ่ายกฎหมายของประธานสภาฯ พิจารณาเหมือนกับสมัยสภาฯ ที่แล้ว และยกคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมาเทียบเคียงว่าอาจจะขัดกับรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นการแก้ไขทั้งฉบับ ก็ต้องทำประชามติ ซึ่งประธานสภาฯ ก็ตัดสินใจตามคำแนะนำของฝ่ายกฎหมายว่าจะยังไม่บรรจุระเบียบวาระ เพราะอาจขัดต่อคำวินิจฉัย ซึ่งอาจเป็นเจตนาของเราเช่นกันว่า หากไม่บรรจุก็จะอาจเอาคำวินิจฉัยของฝ่ายกฎหมาย มาทำเป็นญัตติเสนอต่อสภาฯ เพื่อขอให้สภาฯ มีมติส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ซึ่งจะยื่นต่อสภาฯ เร็ว ๆ นี้ คาดว่าน่าจะใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ และจะนำไปสู่คำตอบว่าจะทำประชามติ 3 ครั้งหรือ 2 ครั้ง
ส่วนญัตติด่วนเรื่องขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาทบทวนมาตรการอารักขาถวายความปลอดภัยขบวนเสด็จ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า เป็นญัตติของพรรครวมไทยสร้างชาติ ซึ่งวิปรัฐบาลเห็นว่าเป็นญัตติที่เป็นประโยชน์ สภาฯ ก็ต้องพิจารณากันไป ท้ายสุดจะมีมติออกมาว่าอย่างไร จะตั้งคณะกรรมาธิการหรือจะส่งรัฐบาลพิจารณา ซึ่งวิปรัฐบาลมีมติให้พรรครวมไทยสร้างชาติเสนอ และมีมติให้ช่วยกันเสนอความเห็น ซึ่งเข้าใจว่าทางที่ดีที่สุดคือส่งให้รัฐบาลรับไปพิจารณา หามาตรการต่าง ๆ ต่อไป.-312.-สำนักข่าวไทย