ทำเนียบรัฐบาล 13 ก.พ.-รมว.สธ. ยันออกประกาศกระทรวงเรื่องปริมาณยาบ้าตามกฎหมายหลักรองรับ มีคณะกรรมการหลายฝ่ายระดมสมองช่วยกันคิด ย้ำนโยบายปลุกชุมชนเข้มแข็ง ใช้เป็นฐานบำบัดผู้เสพ
นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ถึงการขอทบทวนกฎกระทรวงที่หลายฝ่ายไม่เห็นด้วยกับการกำหนดปริมาณการครอบครองยาเสพติดไม่เกิน 5 เม็ด ว่า กระทรวงสาธารณสุขกำหนดปริมาณวัตถุออกฤทธิ์ประเภทที่ 1 ประเภทที่ 2 ประเภทที่ 5 ซึ่งออกกฎกระทรวงไปเมื่อวันที่ 9 ก.พ. ที่ผ่านมา ส่วนจะทบทวนหรือไม่ ต้องถามว่าคนที่ขอให้ทบทวนเป็นใคร กลุ่มไหน ด้วยเหตุผลอะไร เพราะก่อนออกมาเป็นกฎกระทรวง เราทำร่างมาก่อน และเข้าสู่การรับฟังความคิดเห็น การทำประชาพิจารณ์ โดยใช้เวลา 15 วัน ให้ทุกคนมาแสดงความเห็น
“หลายฝ่ายเสนอมาว่าต้องครอบครองไม่เกิน 5 เม็ด เราจึงได้นำความเห็นนั้นเสนอต่อครม. ให้เห็นชอบ และให้ทางกฤษฎีกาตรวจสอบว่าร่างฉบับดังกล่าวถูกต้องหรือไม่ หลังจากนั้นตนเองจึงได้ลงนามออกมาเป็นกฎกระทรวงเมื่อวันที่ 31 ม.ค. และส่งต่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 9 ก.พ. ที่ผ่านมา ส่วนผลการบังคับใช้เป็นอย่างไร ต้องดูว่าประชาชน ประเทศชาติได้รับประโยชน์หรือไม่ เพราะนายกรัฐมนตรีแถลงชัดเจนเรื่องยาเสพติด จะต้องป้องกัน ปราบปราม บำบัด ฟื้นฟู โดยมีนโยบายให้ผู้เสพเป็นผู้ป่วย และบำบัด กลับคืนเข้าสู่สังคม เราก็ทำตามนโยบายนั้น” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าว
ส่วนกรณีที่พล.ต.ท.เรวัต กลิ่นเกษร อดีตผู้บัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติดแสดงความคิดเห็นระบุว่าคณะกรรมการเอาอะไรคิดออกกฎกระทรวงดังกล่าว นพ.ชลน่าน กล่าวว่า แต่ละคนมีสิทธิ์แสดงความเห็นได้ แต่หลักกการที่ออกกฎกระทรวงหรือประกาศกระทรวงต่างกัน ต้องมีกฎหมายแม่ให้อำนาจไว้จึงจะออกได้ ตามมาตรา 107 ของประมวลกฎหมายยาเสพติดซึ่งเขียนไว้ 2 วรรค ว่าห้ามครอบครอง ยาเสพติดให้โทษประเภท 1 ประเภทที่ 2 และประเภทที่ 5 โดยวรรค 2 ระบุไว้ว่า วัตถุออกฤทธิ์ประเภทที่ 1 และประเภทที่ 2 หากครอบครองจะมีความผิดตามกฏหมาย แต่ถ้าผู้ใดครอบครองในปริมาณเล็กน้อยตามกฎกระทรวงให้สันนิษฐานว่ามีไว้เพื่อเสพ ซึ่งมีเหตุผลเพราะต้องแยกผู้เสพออกจากผู้ค้า เพราะการค้ารายย่อยจะเริ่มจากผู้เสพในปริมาณน้อย ๆ จนไปเป็นผู้ค้า ถ้าเราตัดวงจรนี้ได้ ก็จะตัดวงจรผู้ค้ารายย่อย
“การกำหนดปริมาณผ่านการพิจารณาอย่างถี่ถ้วนจากคณะกรรมการทุกภาคส่วน ทั้งกรรมการบำบัดรักษาฟื้นฟูยาเสพติด ผมซึ่งเป็นประธาน ป.ป.ส. กระทรวงยุติธรรม ศาล ทหาร ตำรวจ ข้อสรุปใช้สมองของคนเหล่านี้คิด ส่วนสถานที่บำบัดผู้ป่วยจากยาเสพติด เราออกนโยบายรองรับเป็นควิก-วินที่ต้องเห็นผลใน 100 วัน ได้ตั้งสถานบำบัดยาเสพติดด้านการแพทย์ครบทุกจังหวัด ตั้งหอผู้ป่วยจิตเวช ส่วนโรงพยาบาลชุมชนที่มีประสิทธิภาพกระจายไปหลายร้อยอำเภอ เรามีมินิธัญรักษ์ที่ รักษาผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง คาดว่าใช้เวลาบำบัดฟื้นฟู 3 – 4 เดือนถึงจะผ่าน ซึ่งนโยบายของนายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญกับการปลุกชุมชนให้เข้มแข็งเป็นฐานการบำบัด คนที่มีอาการเล็กน้อย ต้องได้รับการฟื้นฟูสภาพจิตใจด้วย การฝึกอาชีพเพื่อการรองรับทางสังคมจนกระทั่งผ่านหลักสูตร เราจะมีหนังสือรับรองจึงจะได้ไม่ต้องรับโทษ แต่หากไม่ผ่านก็ต้องรับโทษตามเดิม” นพ.ชลน่าน กล่าว.-317.-สำนักข่าวไทย