กรุงเทพฯ 6 พ.ค. – ทองคำไทยเปิดตลาดพุ่งแรงตามตลาดโลก ในขณะที่หุ้นไทยร่วง หลังโอเปกพลัสเพิ่มกำลังผลิต ส่งผลราคาน้ำมันดิบอ่อนค่าลงรอบ 4 ปี ด้านเงินบาทแข็งค่า เงินเฟ้อไทยลดลงเป็นครั้งแรงในรอบ 13 เดือน
สมาคมค้าทองคำ ประกาศราคาทองคำในเช้าวันนี้ (6 พ.ค.) จนถึงเวลา 10.02 น.มีการเปลี่ยนแปลง 4 รอบ โดยเปิดตลาดวันนี้ ราคาพุ่งขึ้น 950 บาท/บาททองคำ โดยทองคำแท่งรับซื้อ 52,500.00 บาท ขายออก 52,600.00 บาท ส่วนทองคำรูปพรรณ รับซื้อ 51,559.16 บาท ขายออก 53,400.00 บาท บนฐานเงินบาท 32.96 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ราคา GOLD SPOT 3,375 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์ โดยราคาทองคำขึ้นตามราคาตลาดโลก แต่จากเงินบาทแข็งค่าจึงทำให้ราคาในไทยไม่ปรับเพิ่มสูงขึ้นมากนัก โดยสัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นวานนี้ (5 พ.ค.) สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือน มิ.ย.เพิ่มขึ้น 79 ดอลลาร์ หรือ 2.44% ปิดที่ 3,322.30 ดอลลาร์/ออนซ์ ปัจจัยหนุนจากการอ่อนค่าของสกุลเงินดอลลาร์ และจากแรงซื้อสินทรัพย์ปลอดภัย ในช่วงสงครามการค้า ขณะที่นักลงทุนจับตาการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ในสัปดาห์นี้ประชุมวันที่ 6-7 พ.ค. ตลาดคาดการณ์ว่าคณะกรรมการเฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 4.25-4.50%
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงานว่าเงินบาทปรับตัวอยู่ที่ระดับประมาณ 32.92-32.94 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงเช้าวันนี้ (8.55 น.) เทียบกับระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาที่ 33.06 บาทต่อดอลลาร์ฯ เงินบาทยังคงเคลื่อนไหวในฝั่งที่แข็งค่ากว่าแนว 33.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ หลังทำสถิติแข็งค่าสุดในรอบ 7 เดือนครั้งใหม่ที่ 32.87 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยเงินบาทยังคงได้รับอานิสงส์สำคัญจากการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำในตลาดโลก อย่างไรก็ดี กรอบการแข็งค่าของเงินบาทอาจเป็นไปอย่างจำกัด และน่าจะมีแรงซื้อคืนเงินดอลลาร์ฯ กลับเข้ามาบางส่วนในช่วงก่อนการประชุมเฟด ในช่วงกลางสัปดาห์นี้
สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ ประเมินเบื้องต้นไว้ที่ 32.80-33.10 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขเงินเฟ้อเดือน เม.ย. ของไทย สัญญาณฟันด์โฟลว์ของต่างชาติ รวมถึงดัชนี PMI ภาคบริการเดือน เม.ย. ของจีน ยูโรโซน และอังกฤษ
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า คาดว่าวันนี้เงินบาทจะเคลื่อนไหวในกรอบ 32.85-33.05 บาท/ดอลลาร์ แนวโน้มของค่าเงินบาทนั้น มองว่า การแข็งค่าของเงินบาทในช่วงวันศุกร์ที่ผ่านมา อาจชะลอลง เปิดโอกาสให้เงิน บาทเสี่ยงทยอยอ่อนค่าลง “Sideways Up” ท่ามกลางแรงกดดันจากโฟลว์ธุรกรรมจ่ายเงินปันผลให้กับบรรดานักลงทุนต่างชาติ อีกทั้งเงิน ดอลลาร์อาจพอได้แรงหนุนอยู่ แต่ภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาด อาจเพิ่มแรงซื้อสินทรัพย์ไทยได้ ทั้งนี้ ควรจับตาทิศทางราคาทองคำ เงินหยวนจีน อย่างใกล้ชิด ปัจจัยในประเทศที่จะมีการรายงานอัตราเงินเฟ้อวันนี้ ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อ (CPI) เดือน เม.ย.68 จะชะลอลงสู่ระดับติดลบ ตามการปรับตัวลงของราคาพลังงานเป็นสำคัญ แต่อัตราเงินเฟ้อ “ติดลบ” ดังกล่าว จะไม่ใช่ปัจจัย สำคัญในการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และยังไม่ได้สะท้อนถึงภาวะเงินฝืด
ทั้งนี้ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) เดือน เม.ย.68 อยู่ที่ 100.14 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไป เดือน เม.ย. ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน -0.22% (YoY)

นายณัฐวุฒิ วงศ์เยาวรักษ์ ผอ.ฝ่ายวิจัย บล.โกลเบล็ก กล่าวว่า หุ้นไทยติดลบเช้านี้ ตามคาดการณ์ว่าผลดำเนินการของ บจ.กลุ่มพลังงานจะได้รับผลกระทบหลังกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันและชาติพันธมิตร (OPEC+) เพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันขึ้น 411,000 บาร์เรลต่อวัน ในเดือน มิ.ย. ซึ่งเป็นการปรับเพิ่มการผลิตติดต่อกันเดือนที่ 2 ทำให้น้ำมันดิบ เมื่อวันจันทร์ (5 พ.ค.) ลดลงต่ำสุดในรอบ 4 ปี ส่วนกรณีกระทรวงการคลังมีแนวคิดจะเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับผู้ประกอบการรายเล็กที่มีรายได้เกิน 1.5 ล้านบาท จากเดิมที่จะจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มเฉพาะผู้มีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทนั้น คาดว่าเป็นผลดีทางอ้อม กับกลุ่มค้าปลีก ที่จะทำให้ มียอดขายเพิ่มมากขึ้น เพราะเมื่อมีการเก็บภาษีผู้ประกอบการรายเล็กก็อาจทำให้เกิดภาระผลักดันไปยังผู้บริโภค และผู้บริโภคก็อาจจะมาซื้อจากกลุ่มค้าปลีกที่มีภาษีมูลค่าเพิ่มอยู่แล้วมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ผลอีกอย่างหนึ่งที่ต้องติดตามคือ คนจะรัดเข็มขัด ประหยัดเงินเพิ่มขึ้นหรือไม่
สำหรับราคาน้ำมันดิบวานนี้ (5 พ.ค.) สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ส่งมอบเดือน มิ.ย. ลดลง 1.16 ดอลลาร์ หรือ 2% ปิดที่ 57.13 ดอลลาร์/บาร์เรล ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือน ก.ค. ลดลง 1.06 ดอลลาร์ หรือ 1.7% ปิดที่ 60.23 ดอลลาร์/บาร์เรล
นักวิเคราะห์ ปรับลดคาดการณ์ราคาน้ำมันเบรนท์หลังจากที่ประชุมโอเปกพลัสมีมติเพิ่มการผลิตน้ำมัน โดย Barclays ปรับลดคาดการณ์ราคาน้ำมันเบรนท์ลง 4 ดอลลาร์ สู่ระดับ 66 ดอลลาร์/บาร์เรลสำหรับปี 2568 และปรับคาดการณ์ราคาลง 2 ดอลลาร์ สู่ระดับ 60 ดอลลาร์สำหรับปี 2569 ส่วน ING คาดการณ์ว่าราคาน้ำมันเบรนท์โดยเฉลี่ยในปีนี้จะอยู่ที่ 65 ดอลลาร์ ลดลงจากระดับ 70 ดอลลาร์ในการคาดการ์ก่อนหน้านี้. -511- สำนักข่าวไทย